ธีมวิวัฒนาการของการบริโภค การลงทุนที่ควรมีติดพอร์ต
การลงทุนที่เกี่ยวข้องกับการบริโภคจึงเป็นธีมที่ไม่อาจมองข้าม นับตั้งแต่เกิดโรคระบาดโควิด-19 พฤติกรรมของผู้บริโภคต่อการใช้จ่ายสินค้าและบริการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวด
การบริโภคเป็นกิจกรรมหลักทางเศรษฐกิจของหลายประเทศทั่วโลก และเป็นเครื่องยนต์สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ คิดเป็นสัดส่วนกว่า 60% ของจีดีพีโลก ดังนั้นการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับการบริโภคจึงเป็นธีมที่ไม่อาจมองข้าม นับตั้งแต่เกิดโรคระบาดโควิด-19 พฤติกรรมของผู้บริโภคต่อการใช้จ่ายสินค้าและบริการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ความสนใจต่อการสร้างเสริมสุขภาพให้แข็งแรงทั้งในกลุ่มคนรุ่นใหม่ วัยทำงาน และผู้สูงอายุมีมากขึ้น จึงสร้างโอกาสให้กับกลุ่มธุรกิจที่สามารถปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งกลุ่มการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับการบริโภค ได้ดังนี้
1. การเปลี่ยนผ่านของดิจิตอลสำหรับการบริโภค (Digital Transformation of Consumption)
มาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมเพื่อควบคุมการระบาดโควิด-19 แต่ผู้คนยังต้องมีการติดต่อสื่อสารระหว่างกัน ยังต้องมีการจับจ่ายใช้สอยทั้งสินค้าและบริการ การทำธุรกรรมทางการเงินรวมถึงความต้องการพักผ่อนหย่อนใจ ส่งผลให้รูปแบบและพฤติกรรมการบริโภคเปลี่ยนแปลงไป หันมาติดต่อสื่อสารกันผ่านระบบออนไลน์มากขึ้นเร่งให้เกิดกระบวนการปรับเปลี่ยนเข้าสู่โลกดิจิทัลที่เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทมากขึ้น ทำให้ภาคธุรกิจต้องปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงเพื่อเพิ่มศักยภาพทางธุรกิจ เพิ่มช่องทางการจัดจำหน่ายสินค้าและบริการให้สามารถเชื่อมโยงติดต่อสื่อสารกันง่ายขึ้น ดังจะเห็นได้จากธุรกิจ E-Commerce, การจัดส่งอาหารออนไลน์, Streaming และ Digital Payments ที่มีจำนวนเพิ่มขึ้น
การบริโภคออนไลน์มีแนวโน้มเติบโตต่ออย่างเนื่อง ยกตัวอย่างการบริโภคออนไลน์ของประเทศในอาเซียนรวมถึงประเทศไทย อ้างอิงจากรายงานของ Facebook Digital Consumer Insight 2022 แสดงให้เห็นว่าโดยเฉลี่ยแล้วผู้บริโภคออนไลน์ในอาเซียนรวมถึงประเทศไทยใช้เงินเพิ่มขึ้นจากปี 2563 ถึง 60% จากที่เคยใช้เงินช้อปปิ้งและซื้อของออนไลน์โดยเฉลี่ยต่อคนอยู่ที่ 238 ดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อเข้าสู่ปี 2564 การใช้จ่ายเพิ่มขึ้นเป็น 381 ดอลลาร์สหรัฐฯ จึงทำเกิดการคาดการณ์ว่าในอีก 5 ปีข้างหน้า ในปี 2569 การบริโภคออนไลน์โดยเฉลี่ยต่อหัวจะเพิ่มขึ้นสูงถึง 671 ดอลลาร์สหรัฐ หรือสูงขึ้นกว่า 1.7 เท่าของปี 2564 และเมื่อเทียบกับปี 2562 ก่อนที่จะมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 เพิ่มสูงขึ้นกว่า 4.9 เท่า
กราฟที่มา : https://www.everydaymarketing.co/trend-insight/facebook-insight-ecommerce-and-online-retail-2022-thai-and-asean/
2. การเติบโตของชนชั้นกลางในประเทศตลาดเกิดใหม่ (Emerging Middle Class)
ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจของกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่มีการเติบโตสูงกว่ากลุ่มประเทศพัฒนา และมีแนวโน้มเติบโตสูงต่อเนื่องในระยะข้างหน้า อ้างอิงจากการประมาณการขององค์กรการเงินระหว่างประเทศ (IMF)
กราฟ ที่มา : IMF World Economic Outlook ตุลาคม 2564
การเติบโตของชนชั้นกลางเป็นหนึ่งในแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจผ่านบริโภคในกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียที่จะเกิดกลุ่มคนชั้นกลางเพิ่มขึ้นกว่า 900 ล้านคน นำโดยประเทศจีนจากปัจจัยสนับสนุนหลัก คือ การขยายตัวของสังคมเมือง (Urbanization) ทำให้เกิดความต้องการบริโภคที่สูงครอบคลุมทั้งสินค้าปัจจัยพื้นฐานและสินค้าฟุ่มเฟือย ซึ่งธุรกิจที่ได้ประโยชน์จากคนกลุ่มนี้มีตั้งแต่บริษัทผู้ให้บริการด้านสาธารณสุข ไปจนถึงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่เชื่อมโยงผู้คนและสังคมเข้าด้วยกัน ไม่เพียงแค่ภาคธุรกิจในกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่เท่านั้นที่จะได้ประโยชน์จากการเติบโตของชนชั้นกลาง มีหลายบริษัทในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วโดยเฉพาะบริษัทที่เข้ามาดำเนินธุรกิจในกลุ่มประเทศเกิดใหม่ที่ได้ประโยชน์จากแนวโน้มความต้องการบริโภคและการบริการในระยะยาวตามไปด้วย
3. สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น (Health & Wellbeing)
ผู้คนหันมาให้ความสำคัญกับสุขภาพ สุขอนามัย และความเป็นอยู่ที่ดีมากขึ้น ทั้งคนรุ่นใหม่ วัยทำงาน และกลุ่มผู้สูงอายุที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป ทำให้เกิดโอกาสลงทุนกับบริษัทที่มีธุรกิจเกี่ยวข้องกับสุขภาพ ได้แก่ การออกกำลังกาย อุปกรณ์ทางการแพทย์ในครัวเรือน ธุรกิจการขายผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง หรือเวชศาสตร์ชะลอวัย ไปถึงธุรกิจที่พักอาศัยสำหรับผู้สูงอายุ
การลงทุนในธีมการบริโภคจึงเป็นโอกาสของนักลงทุนที่จะลงทุนในธุรกิจที่สามารถปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็ว และได้ประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงทางพฤติกรรมและโครงสร้างของการบริโภค ก่อนที่ตัดสินใจจลงทุนควรทำความเข้าใจ ศึกษารายละเอียดและทำความเข้าใจความเสี่ยงจากการลงทุนในสินทรัพย์นั้นๆ โดยนักลงทุนสามารถเลือกลงทุนในธีมการบริโภคทั่วโลกได้อย่างสะดวกง่ายดายผ่าน ‘กองทุนรวม’ สามารถเลือกลงทุนผ่านบริษัทจัดการกองทุนที่มีความชำนาญและประสบการณ์ในการลงทุน โดยขอคำแนะนำผ่านผู้แนะนำการลงทุนที่มีความเชี่ยวชาญก่อนตัดสินใจลงทุน