posttoday

ช่วยกันจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้สำเร็จ

12 มีนาคม 2564

โดย...โคทม อารียา

******************

ในวันที่ 11 มีนาคม ศาลรัฐธรรมนูญมีวินิจฉัยว่า รัฐสภามีอำนาจอธิปไตยทางนิติบัญญัติ ดังนั้นรัฐสภาสามารถแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ รวมทั้งจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ อย่างไรก็ดี ควรมีการลงประชามติก่อนเพื่อเป็นการสถาปนาอำนาจของประชาชนในการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ อีกทั้งควรมีการลงประชามติเมื่อสภาร่างรัฐธรรมนูญได้ยกร่างรัฐธรรมนูญเสร็จแล้ว เพื่อยืนยันอีกครั้งว่าอำนาจการสถาปนานั้นเป็นของประชาชน รวมความแล้วควรจะมีการลงประชามติสองครั้ง

แผนที่เดินทางสู่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่มีขั้นตอนโดยสังเขปดังนี้

(1) วันที่ 17-18 มีนาคม 2564 รัฐสภาจะลงมติรับหรือไม่รับญัตติแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256 และเพิ่ม “หมวด 15/1 การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่”

(2) ในช่วงเวลาเดียวกัน รัฐสภาจะลงมติรับหรือไม่รับร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการลงประชามติ ที่มีบทบัญญัติว่าการลงประชามติต้องการเสียงข้างมากของผู้มาใช้สิทธิ และจะต้องมีผู้มาใช้สิทธิไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิทั้งหมด

(3) ถ้ารัฐสภามีมติรับญัตติตามข้อ (1) จะต้องมีการออกเสียงประชามติเพื่อให้ญัตติดังกล่าวมีผลใช้บังคับเป็นกฎหมาย

(4) ประชาชนจะใช้อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญอีกครั้งในการเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) จำนวน 200 คน โดยใช้ระบบเลือกตั้งแบบหนึ่งเขตหนึ่งคน

(5) เมื่อสภาร่างรัฐธรรมนูญร่างเสร็จแล้ว ให้ส่งร่างต่อรัฐสภาเพื่ออภิปรายแสดงความคิดเห็นต่อร่าง

(6) จากนั้นจะมีการออกเสียงประชามติครั้งที่สองเพื่อรับหรือไม่รับร่างที่จัดทำโดย สสร.

ในท่ามกลางความขัดแย้งที่ดำรงมากว่าสิบห้าปีแล้วนี้ สังคมการเมืองไทยควรจะไปต่ออย่างไร

เมื่อวานผมไปกินข้าวกับเพื่อนร่วมรุ่น เพื่อนคนหนึ่งบอกว่า พวกที่ชอบค้านก็จะค้านตลอดไป เขาเขียน ก ไก่ ก็ติว่า ก ไก่ ที่เขียนไม่สวย ส่วนที่ขยักไม่ชัด ดูไปคล้าย ท ทหาร ฯลฯ แล้วจะเอาอย่างไรกัน ทำไมไม่ปล่อยให้ผู้มีอำนาจหน้าที่ทำงานไป หรือจะค้านก็ให้มีเหตุมีผลกว่านี้ได้ไหม ... ผมพยายามเข้าใจเพื่อน ดูเหมือนว่าเขาหงุดหงิด ระคายเคืองจริง ๆ แต่การแสดงออกของเขายังดีกว่าที่เราจะหาอ่านได้ใน comments ต่าง ๆ ทางเครือข่ายสังคมออนไลน์ ที่บางครั้งมีการด่ากันอย่างสาดเสียเทเสีย

ถ้าเปรียบสังคมการเมืองเหมือนเครื่องยนต์ เครื่องกำลังหมุนติ้ว มีการเสียดสีที่ทำให้เกิดความร้อน มีตัวอย่างอาการของความขัดแย้งดังนี้ คนหนุ่มสาวที่ออกมาชุมนุมบอกว่าพวกเขาใช้สันติวิธีและแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ ตำรวจบอกว่าผู้ทำผิดกฎหมายต้องถูกดำเนินคดี และในบางกรณีตำรวจก็คัดค้านการประกันตัว ฝ่ายค้านบอกว่าได้เปิดเผยความไม่ชอบมาพากลของการบริหารราชการแผ่นดินในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ผู้แทนรัฐบาลคนหนึ่งตอบว่าที่ฝ่ายค้านพูดมานั้นไม่จริง แล้วไม่อธิบายอะไรต่อ

เราอาจบอกว่าความขัดแย้งเป็นเรื่องธรรมดา ต่างฝ่ายต่างมีเป้าหมาย และเห็นอีกฝ่ายเป็นอุปสรรคต่อการบรรลุเป้าหมายของตน ตราบใดที่มีความสัมพันธ์กันและยังไม่ตัดเยื่อใย คือยังเคารพกันและเห็นคุณค่าของการอยู่ร่วมกัน เราต้องหาทางออกโดยไม่ใช้ความรุนแรง คือไม่ทำร้ายหรือจับกุมคุมขังโดยพลการ ไม่เอาอย่างพม่า ไม่เอาอย่างซีเรียหรือเยเมนที่ทำสงครามกลางเมืองไม่เลิกรา

ผมมีข้อเสนอที่จะรักษาเยื่อใยของสังสังคมดังนี้ ในเรื่องที่เรามีข้อขัดแย้งกันโดยตรง ขอให้มีพื้นที่พูดคุยกันให้มากไว้ ในเรื่องบริบทแวดล้อม เช่นในเรื่องความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม เราอาจเห็นตรงกันในเชิงเป้าหมายว่าจะต้องลดความเหลื่อมล้ำ จะเห็นต่างแต่เพียงวิธีการที่จะทำให้เป็นผล ในเรื่องเช่นนี้ก็ให้ต่างคนต่างทำ หรือช่วยกันทำก็ยิ่งดี เพราะถ้าบริบทดีขึ้น ความขัดแย้งหลักทางการเมืองอาจจะคลี่คลายได้ง่ายขึ้นด้วย

เราอาจแบ่งระดับความขัดแย้งทางการเมืองอย่างง่าย ๆ ออกเป็น (1) เห็นต่าง (2) แบ่งฝ่ายหรือแยกขั้ว (3) มีการใช้ความรุนแรง (4) มีภาวะสงครามเกิดขึ้น คือต่างฝ่ายต่างมุ่งเอาชนะโดยแทบไม่คำนึงถึงวิธีการ เช่นนี้แล้วความขัดแย้งในสังคมการเมืองไทยอยู่ในระดับไหน ผมไม่อยากจะคิดว่าเราเข้าสู่ภาวะสงครามแล้ว คือเราน่าจะยังอยู่ในระดับที่ (3) เมื่อประเมินระดับความขัดแย้งได้แล้ว เราควรหาวิถีทางแก้ไขที่สอดคล้องกับระดับนั้น กล่าวคือ ไม่ควรพยายามลดระดับแบบข้ามขั้น เช่นพยายามลดจากระดับที่ (3) ไปสู่ระดับที่ (1) ทันที

ดังนั้น ปัจจุบันควรหาทางลดหรือระงับความรุนแรงทางกายและทางตรงก่อน แม้ใจที่ต่างและความเห็นต่างยังมีอยู่ แม้การใช้ความรุนแรงทางวาจาซึ่งสะท้อนถึงการแบ่งขั้วยังมีอยู่ แต่นั่นเป็นธรรมดาของความขัดแย้งมิใช่หรือ

แต่ถ้าวินิจฉัยว่าปัจจุบันเราอยู่ในระดับภาวะสงครามทางการเมือง วิธีการรับมือกับวิกฤตก็ควรต่างออกไป เช่น การแยกคนหัวร้อนของฝ่ายต่าง ๆ ให้อยู่ห่างกัน การเอาข้อความที่ยุยงให้เกิดความรุนแรงและความเกลียดชังออกจากเครือข่ายสังคมออนไลน์ การฝึกอบรมสันติวิธีให้แก่นักเคลื่อนไหวอย่างเข้มข้น การไม่สร้างเงื่อนไขเพิ่มเติมที่สวนทางกับข้อเรียกร้องต่าง ๆ ฯลฯ

นอกจากมาตรการเชิงป้องกันมิให้มีการยกระดับความขัดแย้งแล้ว ควรมีมาตรการที่เป็นการเตรียมการตลอดจนการสร้างความเข้าใจและความหวังในอนาคตที่ดีขึ้นด้วย ในบริบทของการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ นักวิชาการน่าจะทำการศึกษาวิจัยประเด็นสำคัญที่เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ อาทิ ศึกษาการถ่วงดุลอำนาจในระบอบรัฐสภา ระบบเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร การได้มาและอำนาจหน้าที่ของสมาชิกวุฒิสภา(ถ้ามี) การได้มาและอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการขององค์อิสระที่ทำหน้าที่ตรวจสอบรวมทั้งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ แนวทางการโอนย้ายอำนาจหน้าที่จากราชการส่วนภูมิภาคสู่ส่วนท้องถิ่น แนวทางการสร้างความเข้มแข็งแก่องค์กรชุมชน ฯลฯ

เรามักชอบเขียนรัฐธรรมนูญยาว ๆ ที่มีรายละเอียดมากมาย ที่ทำเช่นนี้อาจเป็นเพราะความกลัวและความไม่ไว้วางใจนักการเมือง เช่น กลัวว่านักการเมืองเมื่อมีอำนาจในรัฐสภาจะมาออกกฎหมายที่เกื้อกูลพวกตน กลัวว่าผู้มีอำนาจจะขาดจริยธรรมหรือคอร์รัปชั่น กลัวว่านักการเมืองจะมาครอบงำองค์กรอิสระ กลัวว่าการพัฒนาประเทศจะขาดทิศทางหรือไม่มียุทธศาสตร์ กลัวว่าผู้มีอำนาจจะไม่ทำการปฏิรูปที่ผู้ร่างรัฐธรรมนูญเห็นว่าจำเป็น ฯลฯ กล่าวโดยรวมคือกลัวเรื่องที่ตนไม่ชอบในอดีต ทั้งที่เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริงหรือตีความเอาเอง รวมทั้งเรื่องที่กลัวว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต

ผมมีความเห็นว่าเราไม่ควรออกแบบรัฐธรรมนูญเพื่อแก้ไขปัญหา ซึ่งจะเป็นการวิ่งตามเงา หากควรปล่อยให้ปัญหาคลี่คลายไปเองตามเหตุปัจจัยและกาลเวลา เราควรออกแบบรัฐธรรมนูญด้วยหลักการใหญ่ที่อยู่ได้นาน เช่น เราไม่ควรออกแบบระบบเลือกตั้งเพื่อผลทางการเมืองระยะสั้น หากควรออกแบบให้เป็นระบบที่ง่ายพอสมควร สามารถทำให้การเมืองมีเสถียรภาพและประสิทธิภาพ และได้องค์รวมของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่สะท้อนความเป็นตัวแทนของประชาชน

ผมมีความเห็นว่ากระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เป็นทั้งโอกาสการปฏิรูปสังคมและการคลี่คลายความขัดแย้ง อย่างน้อยก็คงลดความขัดแย้งจากระดับที่รุนแรงมาเป็นระดับการแยกขั้วก็ยังดี อย่างไรก็ตาม กระบวนการนี้มีหลายขั้นตอนดังที่ได้กล่าวมาแล้ว และอาจถูกทำให้สะดุดหรือหยุดยั้งลงได้ในขั้นตอนใดขั้นตอนหนึ่ง การช่วยกันทำให้กระบวนการนี้ดำเนินไปอย่างตลอดรอดฝั่ง จึงเป็นภาระหน้าที่ของทุกฝ่ายและต้องการภาวะผู้นำของผู้มีอำนาจนิติบัญญัติและอำนาจบริหาร

การจัดทำรัฐธรรมนูญต้องการการมีส่วนร่วมที่หลากหลายโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ทั้งนี้โดยใช้การถกแถลงแจงเหตุผลซึ่งกันและกัน (deliberation) เพื่อแสวงความเห็นพ้องมากกว่าการเอาชนะกัน เพื่อว่าในที่สุด เราจะมีรัฐธรรมนูญที่ยั่งยืนและเป็นหลักชัยของทุกคน