posttoday

บรรยากาศเดิมๆ

28 มีนาคม 2562

หลายคนคงทราบแล้วว่า ไม่ว่าใครจะมาเป็นรัฐบาลใหม่ ก็ต้องยอมรับว่างบประมาณปี 2563 ที่มีงบให้ใช้อย่างจำกัดแค่ 1 แสนล้านบาท

เรื่อง มะกะโรนี

หลายคนคงทราบแล้วว่า ไม่ว่าใครจะมาเป็นรัฐบาลใหม่ ก็ต้องยอมรับว่างบประมาณปี 2563 ที่มีงบให้ใช้อย่างจำกัดแค่ 1 แสนล้านบาท เพราะได้ผ่าน พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ไปแล้ว

ก่อนหน้านี้ มีนักวิชาการรวมมูลค่าโครงการที่หาเสียงกันไว้ก่อนเลือกตั้ง ส่วนใหญ่แต่ละพรรคใช้เงินเกินกว่า 1 แสนล้านบาท นโยบายประชานิยมของแต่ละพรรคหาเสียงไว้ หากนำไปทำจริง คาดว่าอาจจะใช้เงินเพิ่มไม่น้อยกว่าปีละ 3 แสนล้านบาท

แน่นอนว่า ในที่สุดรัฐบาลใหม่เลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องจัดลำดับความสำคัญของนโยบายที่จะทำเพื่อไม่ให้มีปัญหากับงบประมาณ แต่ปัญหาดังกล่าวก็จะเกิดแค่ปีแรกเท่านั้น ปีต่อไปก็สามารถที่จะกำหนดวงเงินใช้จ่ายใหม่ให้เป็นไปตามนโยบายที่หาเสียงไว้

ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่า แนวคิดที่พรรคต่างๆ หาเสียงกันมา ยังนับได้ว่าเป็นเพียงเกมทางการเมือง เพราะไม่มีใครทราบได้แน่ชัดว่าเรื่องไหนจะเป็นอย่างไรในอนาคต

ต้องไม่ลืมว่า การเลือกตั้งรอบนี้ แต่ละพรรคแข่งขันด้วยนโยบายประชานิยมเป็นหลัก หลายพรรคประกาศทั้งแจกเงินและสวัสดิการ สารพัดการเอาใจในรูปแบบต่างๆ เรียกได้ว่า เริ่มตั้งแต่ในครรภ์ มารดา เรียนฟรี-รักษาฟรี ไม่มีงานทำหรือมีรายได้น้อย ได้เบี้ยคนจนไปถึงวัยชรา

ไหนจะเรื่องเอาใจข้าราชการกลุ่มต่างๆ ทั้งขึ้นเงินเดือน ทั้งประกาศช่วยล้างหนี้ ทั้งสวัสดิการในฝัน ที่ฟังหรือเห็นแล้วต้องเห็นภาพตาม เป็นภาพยุคทองของอาชีพราชการ

โปรดอย่าลืมว่า คำเตือนเรื่อง นโยบายประชานิยมนั้นมีผลดีเพียงระยะสั้น และเคยประจักษ์กันมาแล้วว่า ประเทศลาตินอเมริกาที่ใช้นโยบายประชานิยมต่างก็อ่วมกันถ้วนหน้า

เราจะลืมกันได้เชียวหรือว่า นโยบายประชานิยมบางโครงการที่บางพรรคเคยหาเสียงนั้น ทิ้งภาระให้รัฐและประชาชนผู้เสียภาษีด้วยงบประมาณปีละ 1.91 แสนล้านบาท แต่บริการที่ได้รับก็ใช่ว่าจะเป็นไปตามที่วาดฝันไว้

หลังจากนี้ สิ่งที่ประชาชนควรจะทวงถามและได้ยินคำตอบชัดๆ หลังจากที่มีการตั้งรัฐบาลใหม่แล้ว คือ พูดถึงทางออก เพราะรายได้ของรัฐจากภาษีใช้งบประมาณแบบขาดดุลมาตลอด ปีนี้สูงถึง 4.5 แสนล้านบาท

และสิ่งที่ไม่ค่อยได้ยินกันนักในการหาเสียงที่ผ่านมา ก็คือ เรื่องของการแก้ปัญหาการศึกษา ที่มองปัญหาระยะยาว ตั้งแต่แรกเกิด เตรียมกำลังคนเพื่อพัฒนาประเทศ ควรเริ่มวางแนวทางตั้งแต่ชั้นเด็กเล็ก

แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำอย่างเข้าใจรากเหง้า ต้นตอของปัญหา การกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นสามารถใช้ทรัพยากร ออกแบบการศึกษา จัดการกับจุดเด่นจุดด้อย ต้นทุน ซึ่งแต่ละพื้นที่มีไม่เหมือนกันได้

ไหนจะเรื่องหลักสูตรที่เท่าทันต่อโลกยุคใหม่ ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว จนว่ากันตามจริงก็คือเปลี่ยนเร็วจนการศึกษาในทุกระดับชั้นตามไม่ทัน

ไหนจะปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมแค่เรื่องพิษหมอกควันเรื่องเดียวก็กุมขมับรอได้เลย ไหนจะปัญหาด้านสังคมอื่นๆ ที่ระโยงระยางกันอย่างซับซ้อน ยิ่งกว่าเกมการเมืองของพรรคหรือรัฐบาลไหนจะแก้ได้

ยิ่งบรรยากาศหลังเลือกตั้งเป็นแบบนี้ ก็ส่อเค้าว่าจะติดกับดักเดิมๆ แย่งชิงอำนาจ และเต็มไปด้วยความขัดแย้งที่ไม่มีวันสิ้นสุด ใครคุ้นเคยกับบรรยากาศที่ว่ามาในโลกโซเชียลก็คงเข้าใจดี เมื่อเป็นเช่นนี้ ใครมองอนาคตอย่างสวยหรูมีความหวัง ก็นับว่ามองโลกในแง่ดีอย่างที่สุด

จึงขอแสดงความยินดีกับรัฐบาลใหม่ ที่ได้บรรยากาศเดิมๆ กลับมาตั้งแต่ยังไม่เริ่มงาน