posttoday

กฎหมายดีแต่ไม่เกิด

22 มีนาคม 2562

ญี่ปุ่นมีการทิ้งซากของใช้ที่ผสมสารแคดเมียม ตะกั่ว และปรอทเป็นองค์ประกอบกันเรี่ยราดมากทั้งบนบกและในทะเล

ญี่ปุ่นมีการทิ้งซากของใช้ที่ผสมสารแคดเมียม ตะกั่ว และปรอทเป็นองค์ประกอบกันเรี่ยราดมากทั้งบนบกและในทะเล แน่นอนย่อมตกค้างในปลาที่คนญี่ปุ่นชอบบริโภค

หากปริมาณมากๆ จะไปทำลายไต รวมทั้งระบบประสาทและสมอง ในกรณีสตรีมีครรภ์อาจมีผลให้เด็กพิการแต่กำเนิดได้ที่เรียกว่า “โรคอิไต”

นับวันซากอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มมากขึ้น ล้วนมีโลหะหนักเป็นส่วนประกอบ หากนำไปกำจัดโดยวิธีการเหมือนการจัดการขยะธรรมดาที่ใช้วิธีเผาหรือฝังกลบ จะเกิดการรั่วไหลของสารต่างๆ ไปสู่ดินและแหล่งน้ำ ทั้งน้ำใต้ดินและน้ำผิวดินรวมทั้งสิ่งแวดล้อมด้วย ซึ่งจะกลายเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมที่มีผลกระทบรุนแรงต่อระบบนิเวศและสุขภาพของประชาชน

ที่ผ่านมาประเทศไทยเคยมีปัญหาอย่างนี้เหมือนกันแต่ไม่ใช่ในปลา เป็นข้าวอันเป็นอาหารหลักของเรา โดยเพราะพบว่ามีการปนเปื้อนแคดเมียมในข้าว แน่นอนว่าหากหลุดรอดออกไปขายต่างประเทศ จะทำให้ข้าวไทยเสียชื่อเสียง เสียตลาด และแน่นอนเสียความสามารถในการแข่งขัน

ที่น่าสนใจคืองานวิจัยชิ้นหนึ่งที่เสนอในการประชุมทางวิชาการของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ครั้งที่ 54 แสดงให้เห็นว่าในตัวอย่างข้าวทั้งหมด 54 ตัวอย่าง มีการปนเปื้อนแคดเมียมเกินค่ามาตรฐานสูงสุด 4 ตัวอย่าง

การปนเปื้อนโครเมียมเกินค่ามาตรฐานสูงสุด พบในข้าวขาวร้อยละ 33.33 ข้าวกล้องร้อยละ 23.81 และข้าวสีนิลร้อยละ 50 โดยข้าวสีนิลมีการปนเปื้อนตะกั่วเกินค่ามาตรฐานสูงสุดคิดเป็นร้อยละ 83.33 ข้าวขาวและข้าวกล้องมีการปนเปื้อนของตะกั่วเกินค่ามาตรฐานสูงสุดที่กำหนดไว้คือร้อยละ 40.74 และร้อยละ 2.81 (วิภาดา ศิริอนุสรณ์ศักดิ์ และคณะ, การวิเคราะห์ปริมาณโลหะหนัก (แคดเมียม โครเมียม และตะกั่ว) ในข้าวไทย (2559))

กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตระหนักถึงภัยคุกคามดังกล่าวจึงได้เสนอร่างกฎหมายที่มีหลักการในการจัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าอย่างถูกวิธี เพื่อป้องกันไม่ให้มีการรั่วไหลของสารพิษและโลหะหนักที่จะเป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม วิธีการที่ว่านี้ไม่กระทบต่อกิจการค้าของเก่าและซาเล้งที่ทำมาหากินกันอยู่ แต่ใช้ “ความร่วมมือ” จากผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าในการรับคืนซากผลิตภัณฑ์เหล่านั้น

โดยการนำหลัก Polluter Pays Principle หรือหลักผู้ก่อให้เกิดมลพิษเป็นผู้จ่ายมาใช้ เพราะปัจจุบันผู้ผลิตไม่ได้คิดต้นทุนในการจัดการกับปัญหาสิ่งแวดล้อมที่อาจเกิดขึ้นรวมไว้ทำให้ต้นทุนสินค้าและบริการ ปล่อยให้เป็นภาระของภาครัฐและประชาชน ซึ่งไม่เป็นธรรมและไม่สอดคล้องกับหลักธรรมาภิบาล

กฎหมายที่ว่านี้ชื่อว่า “ร่างพระราชบัญญัติการจัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. ....” ซึ่งในการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญดังกล่าว ได้มีการนำผลการรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกระดับและกฎหมายต่างประเทศที่เกี่ยวข้องมาประกอบการพิจารณาด้วย โดยได้พิจารณาเสร็จและส่งให้ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติเพื่อพิจารณาในวาระ 2 และวาระ 3 ต่อไปแล้วตั้งแต่วันที่ 26 ก.พ. 2562 แต่สุดท้ายกฎหมายฉบับนี้ สนช.ไม่ผ่านออกมา

ดังนั้นปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์ยังคงไม่ได้รับการแก้ไข จึงกลายเป็นระเบิดเวลาที่รอเวลาปะทุต่อไปในรุ่นลูกรุ่นหลาน ที่ต้องเผชิญปัญหาดินและน้ำปนเปื้อนสารพิษตกค้างที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมต่อไป เพราะไม่มีกฎหมายดีๆ บังคับใช้