posttoday

เสียงกลุ่มคนเล็กๆ

20 มีนาคม 2562

มีความเคลื่อนไหวเล็กๆ จากภาคประชาสังคมที่ลุกขึ้นมาช่วยกันป้องสิทธิและรักษาความถูกต้อง

เรื่อง สลาตัน

มีความเคลื่อนไหวเล็กๆ จากภาคประชาสังคมที่ลุกขึ้นมาช่วยกันป้องสิทธิและรักษาความถูกต้อง โดยมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชนร่วมกับชุมชนและภาคประชาสังคม ติดตามการจัดทำแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชนมาโดยตลอด ซึ่งทางมูลนิธิฯ มีข้อเสนอหลายประการที่ไม่ได้ถูกบรรจุไว้ในร่างแผนปฏิบัติการฯ

เมื่อเร็วๆ นี้มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชนและภาคประชาสังคมจำนวน 104 องค์กร ได้จัดส่งความเห็นและข้อเสนอแนะต่อร่างแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชนดังกล่าวไปยังอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ สามารถสรุปสาระสำคัญออกมาหลักๆ ที่มีการเรียกร้อง

โดยทั้งหมดรวบรวมความคิดเห็นของภาคประชาชนทั้งหมดตั้งแต่ช่วงเดือน ก.ค. 2561-ก.พ. 2562 มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชนได้มีการจัดเวทีทำความเข้าใจและรวบรวมความคิดเห็นทุกภาคทั่วประเทศไทย สำหรับเครือข่ายที่มูลนิธิได้ร่วมทำงานด้วย และได้นำตัวแทนเครือข่ายเข้าร่วมกับองค์กรอื่นๆ รวมทั้งหมด 8 เวที ครอบคลุมหลายประเด็น

เนื่องจากทางมูลนิธิและเครือข่ายพบว่ามีการนำความเห็นและข้อเสนอแนะของภาคประชาสังคมที่ทางมูลนิธิได้ร่วมกันรวบรวมไว้ ไปบรรจุในร่างแผนปฏิบัติการระดับชาติแล้ว แต่ยังคงขาดส่วนที่สำคัญโดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อเสนอแนะของภาคประชาสังคมที่เกี่ยวข้องกับการแก้กฎหมายในส่วนของกระบวนการยุติธรรม หรือแม้กระทั่งการเรียกร้องให้มีการบัญญัติกฎหมายเพิ่มเติม เช่น การออกกฎหมายป้องกันฟ้องคดีปิดปาก

ยังมีข้อเสนอแนะที่มีการเรียกร้องให้ทบทวนหรือยกเลิกคำสั่ง คสช.ที่เกี่ยวข้องกับการปิดกั้นและการแสดงออกต่างๆ กลับไม่ได้รับการตอบสนอง อีกทั้งข้อเรียกร้องในประเด็นการจัดตั้งศาลชำนาญพิเศษต่างๆ เช่น ศาลสิ่งแวดล้อม ซึ่งในร่างแผนแรกได้รับการบรรจุแต่ร่างสุดท้าย กลับตัดข้อความดังกล่าวไป ตลอดทั้งการกำหนดเกี่ยวกับความรับผิดชอบต่อการลงทุนข้ามพรมแดนของทุนไทย โดยขอเสนอตามประเด็นซึ่งทางกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพได้ยกร่างไว้แต่ยังไม่ได้นำเอาข้อเสนอแนะเหล่านี้เข้าไปในร่าง

ประเด็นที่ทางมูลนิธิต้องการให้มีการนำข้อเสนอแนะนี้ไปบรรจุไว้ในแผนปฏิบัติการฯ เพราะทางกลุ่มดังกล่าวมองว่ายังมีหลายประเด็นถูกเขี่ยตกไป แม้จะเสนอไปก่อนหน้าก็ตาม แยกออกมาในแต่ละส่วนสำคัญหลายข้อ แยกเป็นหัวข้อหลักกว่า 28 ข้อเสนอ

ประเด็นทรัพยากรธรรมชาติรวมถึงสิทธิในที่ดิน อาทิ 1.การมีส่วนร่วมในคณะกรรมการแร่ โดยการลดการถือหุ้นของภาคธุรกิจ 2.การทบทวน พ.ร.บ.เหมืองแร่ ให้มีผลย้อนหลังเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ การกำหนดพื้นที่เหมืองแร่ที่ชัดเจนโดยกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่อย่างถูกต้อง

ด้านนักปกป้องสิทธิมนุษยชน อาทิ 1.รัฐต้องสนับสนุนให้มีเครือข่ายนักกฎหมายและนักปกป้องสิทธิมนุษยชน และสร้างพื้นที่ปลอดภัยในการทำงานร่วมกันของนักปกป้องสิทธิมนุษยชน 2.รัฐต้องพิจารณากฎหมายในการฟ้องกลั่นแกล้ง และมีศาลชำนัญเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน

ด้านการลงทุนระหว่างประเทศและบรรษัทข้ามชาติ อาทิ 1.ผลักดันความตกลงว่าด้วยความร่วมมือการพัฒนาลุ่มแม่น้ำโขงอย่างยั่งยืน ให้มีสภาพบังคับทางกฎหมาย 2.ต้องมีการจัดทำ EIA EHIA คู่ขนานข้ามพรมแดนในกรณีโครงการข้ามพรมแดน 3.จัดทำ EIA EHIA เป็นภาษา
พื้นเมืองที่ประชาชนเข้าถึงได้

น่าจับตาดูความคืบหน้าของการเรียกร้องครั้งนี้ อันเป็นเสียงของคนกลุ่มเล็กๆ ที่รุกขึ้นมารักษาสิทธิจะนำสู่การบรรจุในแผนปฏิบัติการฯ หรือไม่