posttoday

สัตว์สงวน

12 มีนาคม 2562

เป็นเรื่องน่ายินดีที่สัตว์น้ำอีก 4 ชนิด ได้รับการประกาศเป็นสัตว์สงวน

เรื่อง มะกะโรนี

เป็นเรื่องน่ายินดีที่สัตว์น้ำอีก 4 ชนิด ได้รับการประกาศเป็นสัตว์สงวน หลังจากทั้ง 4 ชนิด เคยถูกเสนอชื่อจากคณะกรรมการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า เมื่อปี 2558 จัดทำร่างพระราชกฤษฎีกาเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี และเพิ่งมีการอนุมัติหลักการเมื่อไม่นานมานี้

ทั้ง 4 ชนิดที่ว่านั้น ประกอบด้วย วาฬบรูด้า ตามประวัติ วาฬชนิดนี้ถูกตั้งชื่อตามผู้ที่ถูกบันทึกไว้ว่าได้ค้นพบมันเป็นคนแรก โยฮัน บรูด้า เมื่อ 110 ปีก่อน บรูด้าเป็นวาฬขนาดใหญ่แห่งพื้นที่เขตร้อน อาศัยอยู่ในทะเลที่มีอุณหภูมิสูงกว่า 16 องศาเซลเซียส ในทะเลไทยบันทึกไว้ว่า มีบรูด้ามากกว่า 65 ตัว

เมื่อปลายเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา มีข่าวว่าที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ทะเลปราณบุรี-สามร้อยยอด ห่างจากชายฝั่งทะเลสามร้อยยอดเพียง 1 กิโลเมตร พบเห็นวาฬบรูด้าขนาดใหญ่มีความยาวประมาณ 8-10 เมตร วาฬบรูด้านั้น มีสีเทาอมฟ้า ครีบหลังโค้งเป็นรูปเคียว มีรอยจีบใต้ลำคอขนานกับลำตัว ความยาวสูงสุดของตัวผู้ เมื่อโตเต็มวัยอยู่ที่ 15 เมตร ตัวเมียอยู่ที่ 16.5 เมตร และน้ำหนักสูงสุดอยู่ที่ 40 ตัน กินอาหารโดยใช้ขากรรไกรบนซึ่งมีลักษณะเป็นซี่กรองคล้ายตะแกรง กรองสัตว์ขนาดเล็กๆ เป็นอาหาร

แต่ย้อนกลับไปเมื่อปลายปีก่อน ก็มีข่าวเศร้า ระบุว่า พบซากวาฬบรูด้าในทะเลระหว่างเกาะเต่าและเกาะพะงัน จ.สุราษฎร์ธานี โดยมีวาฬบรูด้าอีกตัวว่ายน้ำตามซากวาฬตัวดังกล่าว ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นคู่ของวาฬบรูด้าตัวที่ตายไปที่ไม่ยอมทิ้งคู่ บ่อยครั้งที่เราเห็นข่าวในทำนองนี้และได้ข้อสรุปว่าเหล่ายักษ์ใหญ่แห่งท่องทะเลนั้นตาย เพราะขยะในทะเลเข้าไปอุดตันทางเดินอาหาร

สัตว์สงวนชนิดที่ 2 คือ วาฬโอมูระ ซึ่งมีขนาดเล็กกว่าวาฬบรูด้า ตัวผู้โตเต็มที่ 10 เมตร ตัวเมียยาวเพียง 11.5 เมตร ต้นปีที่ผ่านมานี้เอง มีข่าวว่าพบ ซากวาฬโอมูระ ขนาดยาว 5.9 เมตร เป็นลูกวาฬลอยมาเกยหาดสมิหลา จ.สงขลา สาเหตุการตาย สันนิษฐานว่าหลงฝูงจนอดอาหารตาย

สัตว์สงวนชนิดที่ 3 คือ ฉลามวาฬ ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นยักษ์ใหญ่ใจดีแห่งท้องทะเล เป็นขวัญใจนักท่องเที่ยว เมื่อมีข่าวว่าโผล่ที่ไหน ที่นั่นก็คลาคล่ำไปด้วยนักท่องเที่ยวที่อยากไปสัมผัสพี่ใหญ่ลายจุดสีขาวและสีเหลืองอ่อนที่กินแพลงก์ตอนเป็นอาหารด้วยวิธีเดียวกับวาฬบรูด้า วัยเจริญพันธุ์ของฉลามวาฬ คือช่วงอายุตั้งแต่ 30 ปีขึ้นไป ออกลูกเป็นตัว มีอายุยืนยาวถึง 60-120 ปี

แต่ก็ปรากฏข่าวเศร้ากรอบเล็กๆ ว่าต้นเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่พบซากยักษ์ใหญ่ใจดีแห่งท้องทะเล ยาวกว่า 8 เมตร หนัก 2 ตัน บริเวณระหว่างอ่าวพังกาใหญ่ เกาะบุโหลนเล จ.สตูล

สัตว์สงวนชนิดสุดท้ายคือ เต่ามะเฟือง เต่าทะเลที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก โตเต็มวัยมีขนาดถึง 2 เมตร มีลักษณะเหมือนผลมะเฟือง กระดองไม่แข็งเหมือนเต่าชนิดอื่น ยืดหยุ่นเหมือนยาง กินแมงกะพรุน แพลงก์ตอน และสาหร่ายเป็นอาหาร ปัจจุบันเต่ามะเฟืองมีจำนวนลดลงจน
น่าวิตก และมักจะพบซากเกยชายหาดอยู่บ่อยครั้ง สาเหตุหลักๆ คือ กินถุงพลาสติกที่ถูกทิ้งในทะเลเพราะเข้าใจผิดว่าเป็นแมงกะพรุน

แต่ต้นปีที่ผ่านมาก็มีข่าวดีว่าพบเต่ามะเฟืองขึ้นวางไข่ที่ อ.เขาหลัก จ.พังงา หลังจากไม่มีรายงานการวางไข่ในบริเวณดังกล่าวมานานกว่า 5 ปี

แน่นอนว่า เป็นไปไม่ได้ที่การประกาศสัตว์สงวนชนิดใหม่ หรือการดูแลสัตว์ป่าใดๆ ก็ตาม จะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นแต่เพียงลำพัง โดยไม่มีมาตรการดูแลสิ่งแวดล้อมที่ดีได้เลย