posttoday

กฎหมายธุรกิจเพื่อสังคม

15 กุมภาพันธ์ 2562

การทำงานหรือธุรกิจเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ถ้าไม่ใจบุญก็ต้องใจป๋าเอามากๆ เพราะส่วนใหญ่งานเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมล้วนไม่ได้ค่าตอบแทนหรือได้ค่าตอบแทนที่น้อยมาก

เรือง กัปตัน ป.

การทำงานหรือธุรกิจเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ถ้าไม่ใจบุญก็ต้องใจป๋าเอามากๆ เพราะส่วนใหญ่งานเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมล้วนไม่ได้ค่าตอบแทนหรือได้ค่าตอบแทนที่น้อยมาก หากงานนั้นเป็นงานเพื่อช่วยเหลือชุมชนหรือคนด้อยโอกาสในสังคม ใครจะใจร้ายหากำไร แต่ชีวิตคนทำงานที่จิตใจดีและอยากทำเพื่อสังคมจึงหายาก

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาเกิดการผลักดันกฎหมายธุรกิจเพื่อสังคม หรือ Social Enterprise เพื่อให้เกิดการสนับสนุนด้านสิทธิประโยชน์และเงินทุนแก่ “นิติบุคคล” ที่ต้องการทำธุรกิจเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม เพื่อจะได้มีเงินทุนมาหล่อเลี้ยงกิจกรรมและคนทำงาน โดยมี Business Model เข้ามาก่อให้เกิดรายได้ หล่อเลี้ยงการทำงานโดยไม่จำเป็นต้องรอคอยแต่ “เงินได้เปล่า” จากแหล่งทุนหรือเงินบริจาค เหมือนการดำเนินการแบบมูลนิธิ องค์กรการกุศล หรือองค์กรพัฒนาเอกชน (เอ็นจีโอ) นั้นหมายความว่าการทำงานเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมต้องทำธุรกิจเป็น!

หลักการของกฎหมายธุรกิจเพื่อสังคม ประกอบด้วยการจดทะเบียนเป็นธุรกิจเพื่อสังคมซึ่งมีสองประเภท คือ กลุ่มขอใบอนุญาตโดยใช้ “บริษัทนิติบุคคล” ที่จัดตั้งอยู่แล้วสามารถจดได้ แต่ต้องไปแก้ไขหนังสือบริคณห์สนธิเรื่องการปันผลกำไรได้ไม่เกิน 30%

และกลุ่มขอใบอนุญาตใหม่ สิ่งสำคัญที่คณะกรรมการจะพิจารณาตามกฎหมายใหม่ เห็นว่าขึ้นตรงกับสำนักนายกรัฐมนตรี โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ย่อมต้องมีหลักการพิจารณาเพราะบุคคลหรือนิติบุคคลที่ได้รับใบอนุญาต จะได้สิทธิประโยชน์ในการลดหย่อนภาษี สินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำ และมาตรการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ดังนั้นนิติบุคคลนั้นๆ ต้องทำธุรกิจเพื่อสังคมจริงไม่ใช่มาขอใบอนุญาตบังหน้าแต่กลับแอบแฝงทำธุรกิจแสวงหากำไร

ประวัติหรือผลงานย้อนหลังที่เคยทำงานเพื่อสังคมได้ทำอะไรไปบ้าง และแผนธุรกิจ (Business Plan) แบบหยาบๆ ว่าจะดำเนินการอะไรในอนาคตที่จะการันตีได้ว่าสามารถสร้างประโยชน์ทางสังคมและสิ่งแวดล้อมและทำธุรกิจเป็น โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งเงินได้เปล่า หรือเงินบริจาค กล่าวคือทำงานเหมือนเอ็นจีโอแต่เป็นเอ็นจีโอที่ทำธุรกิจเป็น!

กฎหมายฉบับนี้ผลักดันมาแล้วหลายปีแต่เป็นหมันไปเสียก่อน แม้ล่าสุดกำลังจะคลอด “กองทุน SE” ที่ผ่านมาผู้นำเสนอต้องการเงินทุนสนับสนุนแบบได้เปล่าและต่อเนื่องผูกพันปีงบประมาณ ดังเช่น กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) หรือกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอี แต่กระทรวงการคลังไม่เห็นด้วย เพราะเงินดังกล่าว “ภาษีประชาชน” ที่ผ่านมามีปัญหา “เงินค้างท่อ” และ “ตัวชี้วัด”

แต่สำหรับกองทุน SE จะมีรายได้จากเงินกู้ของสถาบันการเงินภาครัฐอัตราดอกเบี้ยต่ำ เงินบริจาค หรือผลกำไรของบริษัท SE รายใหญ่ โดยยึดหลักนำกำไรจากธุรกิจรายใหญ่มาช่วยเหลือธุรกิจรายเล็กๆ ที่กำไรเพื่อให้สามารถดำเนินกิจการเพื่อชุมชนสังคมและสิ่งแวดล้อมให้ยืนอยู่ได้

กล่าวคือทุนประเดิมของกองทุนมาจากสถาบันการเงินรัฐจะปล่อยสินเชื่อให้โดยรัฐบาลค้ำประกัน จากนั้นนำไปปล่อยสินเชื่อต่อธุรกิจขนาดเล็กที่จะได้เงินกู้สองส่วน คือ เงินทุนไปตั้งตัวกับเงินกู้เพื่อไปทำธุรกิจ สำหรับบริษัท SE ขนาดใหญ่ต้องการคือสิทธิประโยชน์ทางภาษี 20%

สำหรับมาตรการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐเน้นสนับสนุนธุรกิจ SE ขนาดเล็กจะได้ประโยชน์จากมาตรการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าหรือบริการ โดยภาครัฐกำหนดเพดานราคาที่ให้หน่วยงานภาครัฐสามารถจ้างผลิต หรือซื้อสินค้าและบริการแพงกว่าบริษัทปกติทั่วไปในราคาที่สูงกว่าราคากลางได้ 10% ดังนั้นธุรกิจ SE น่าจะพอแข่งสู้กับผู้ประกอบการทั่วไปได้ ส่วนจะคลอดออกมาเป็นกฎหมายได้จริงๆ หรือไม่คงลุ้นกันต่อไป