posttoday

Second Jobs

08 กุมภาพันธ์ 2562

เวลานี้เราเข้าสู่ยุค Disruptive Technology ไม่ใช่ว่าผลกระทบด้านเทคโนโลยีจะส่งผลให้อาชีพใดอาชีพหนึ่งต้องประสบชะตากรรมตกงาน

เรื่อง กัปตัน ป.

เวลานี้เราเข้าสู่ยุค Disruptive Technology ไม่ใช่ว่าผลกระทบด้านเทคโนโลยีจะส่งผลให้อาชีพใดอาชีพหนึ่งต้องประสบชะตากรรมตกงาน แต่ดูเหมือนว่าจะเกือบทุกอาชีพด้วยซ้ำ เพราะเมื่ออาชีพหนึ่งล้มหายจากไปจากปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) หรือหุ่นยนต์เข้ามาแทนที่ ย่อมจะมีอาชีพใหม่เข้ามาทดแทนเหมือนกัน ดังเช่นอาชีพที่กำลังเป็นกระแสตอนนี้ในยุคดิจิทัล Gig Economy เป็นกระแสนิยมงานแบบใหม่ที่คนรุ่นใหม่ชอบเพราะเข้ากับไลฟ์สไตล์ กล่าวคือคนรุ่นใหม่ไม่ชอบทำงานซ้ำๆ ยึดติดสถานที่ สามารถทำงานได้ทุกที่ด้วยสมาร์ทโฟนหรือคอมพิวเตอร์เพียงเครื่องเดียวที่เชื่อมต่อเครือข่ายอินเทอร์เน็ตเท่านั้นพอ

ลักษณะเหมือนกันอีกอย่างคือคนรุ่นใหม่ไม่ชอบมีนายจ้าง ไม่ชอบกฎระเบียบเข้างานแบบตอกบัตรตรงเวลาเป๊ะๆ แต่ชอบทำในสิ่งที่ตัวเองถนัดและเข้ากับไลฟ์สไตล์ตัวเอง ส่วนใหญ่จะเป็นงานพาร์ตไทม์ ฟรีแลนซ์ หรือเอาต์ซอร์ส สรุปคือไม่ใช่งานประจำแบบเป็นลูกจ้างมีสายบังคับบัญชาสั่งการแบบเดิมอย่างที่เคยเป็นมานั่นเอง แต่นั่นไม่ใช่ปัญหาเพราะเด็กรุ่นใหม่ล้วนชำนาญด้านไอทีและดิจิทัล

แต่สิ่งที่ประเทศไทยกำลังเผชิญอยู่ต่างหากเป็นปัญหาทับซ้อนกล่าว คือ ผู้ใช้แรงงานที่กำลังจะต้องตกงานเพราะเทคโนโลยีเข้ามาแทนกับสังคมผู้สูงอายุที่ผู้ใช้แรงงานเหล่านี้ ซึ่งอยู่ในกลุ่มเดียวกันทั้งตกงานและเป็นคนแก่ที่ต้องทำงานต่อไปเพื่อยังชีพ แต่กลับตกงานเร็วก่อนวัยเกษียณชีวิตจึงเคว้งคว้าง

คำถาม คือ พวกเขาจะอยู่กันอย่างไรเมื่อเทคโนโลยีเข้ามาแทนที่?

คนรุ่นพ่อรุ่นแม่อยู่ในสภาวะลำบากแทบทุกอาชีพกำลังสั่นคลอน โดยเฉพาะคนงานระดับล่าง เช่น คนงานโรงงานแปรรูปอาหารคนเคยคุมเครื่องจักรกลับกลายเป็นว่าถูกควบคุมโดยหุ่นยนต์และคอมพิวเตอร์ต่างเข้ามาทำงานแทนคน เพราะไร้ปัญหาหยุดพักงาน สิทธิสวัสดิการ หรือปัญหาประท้วงเรียกร้องค่าจ้างและโบนัส นายจ้างไม่ต้องมากวนใจกับเรื่องพวกนี้อีกต่อไป

โจทย์ใหญ่คือใครจะดูแลหรือเยียวยากลุ่มคนที่กลายเป็นซากหรือของเหลือใช้จากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี หรือยุค 4.0 จะฝากความหวังไว้กับรัฐบาล กระทรวงแรงงานหรือผู้ประกอบการ คำตอบคือไม่ใช่ สิ่งที่ผู้ใช้แรงงานต้องพึ่งคือลำแข้งตัวเอง ไม่ว่าจะอาชีพใดในตอนนี้ไม่มีความแน่นนอน ทางออกที่ดีที่สุดคือต้องมีอาชีพสำรอง หรือ Second Jobs ไว้รองรับ หากเกิดโดนเลย์ออฟกะทันหัน

หนึ่งในโมเดลที่น่าสนับสนุนคือธนาคารแรงงานเป็นข้อเสนอของชมรม iLabour Friends ปราจีนบุรีจังหวัดแห่งนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ เสนอให้มีแหล่งทุนด้านการศึกษาให้เท่าทันเทคโนโลยีแก่เด็กรุ่นใหม่ที่จะก้าวเข้าสู่ตลาดแรงงาน การลงทุนเพื่อประกอบอาชีพสำรองระหว่างที่ผู้ใช้แรงงานทำงานประจำในโรงงานอุตสาหกรรมหรืออยู่ในตลาดแรงงาน และเป็นแหล่งทุนสำหรับผู้ใช้แรงงานที่เป็นผู้สูงอายุ

ในการจัดตั้งธนาคารจะทำเป็นเครือข่ายไม่ต้องก่ออิฐถือปูนเหมือนธนาคารในอดีต เพราะเดี๋ยวนี้ทุกอย่างผ่านระบบเครือข่ายออนไลน์หมดแล้ว แต่หลักการของการให้สินเชื่อที่ต่างจากสถาบันการเงินทั่วไป คือ สนับสนุนให้เกิดการจ้างงานแก่แรงงานที่โดนดิสรัปทีฟ เช่น สนับสนุนในรูปแบบวิสาหกิจเพื่อสังคมที่เข้ามาจ้างงานแก่ผู้ใช้แรงงานที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยี ได้มีงานทำระหว่างที่ทำงานประจำหรือแรงงานผู้สูงอายุที่เกษียณอายุจากการทำงาน เป็นต้น

โลกเราทุกวันนี้หมุนเร็วหากตั้งรับไม่ทันจะถูกทอดทิ้งไว้ข้างหลัง ดังที่ผู้ใช้แรงงานระดับล่างกำลังกลายเป็นซากของเหลือใช้แห่งยุค 4.0