posttoday

ฆาตกรรมพุ่ง

23 มกราคม 2562

ไม่รู้ว่าหลายคนมีความคิดตรงกับผู้เขียนไหมว่า ช่วงนี้คดีสะเทือนขวัญภายในครอบครัว เด็ก สตรีรุนแรงขึ้นทุกวัน

เรื่อง สลาตัน

ไม่รู้ว่าหลายคนมีความคิดตรงกับผู้เขียนไหมว่า ช่วงนี้คดีสะเทือนขวัญภายในครอบครัว เด็ก สตรีรุนแรงขึ้นทุกวัน หลายคดีเลือกแก้ปัญหาด้วย “ความตาย” ถือว่าเป็นทัศนคติที่ผิดอย่างร้ายแรง ทั้งที่ทางแก้ไขมีสารพัดแต่เลือกที่จะจบปัญหาเช่นนั้น ชนวนเหตุอาจมีส่วนหนุนความคิดทำให้หลายคนเลือกตัดสินใจลงมือทำเช่นนั้น ยอมใช้ความตายจบปัญหาที่ดูสำเร็จรูปมากที่สุด

มีข้อมูลน่าสนใจของมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ร่วมกับเครือข่ายรณรงค์ป้องกันภัยแอลกอฮอล์ และคณะทำงานปกป้องเด็กและเยาวชนจากปัจจัยเสี่ยงทางสังคม จัดเวทีเสวนา “วิกฤตความสัมพันธ์ในครอบครัว สู่ฆาตกรรมและความรุนแรง” น่าตกใจว่าปัญหาความรุนแรงพุ่งสูง
จนแบบเท่าตัวตั้งแต่การฆาตกรรมจนไปสู่การฆ่ายกครัว

ในเวทีมีการวิเคราะห์กันว่าแท้จริงแล้วสาเหตุความรุนแรงเหล่านั้นต้นตอมาจากสิ่งใดกันแน่ จนตกผลึกออกมาว่าสาเหตุมีทั้งปัญหาความหึงหวง ความแค้น เมาสุรา ปัญหายาเสพติด เหล่านี้นับเป็นปัญหาพื้นฐานสังคมที่ยังไม่มีแก้ไขได้เลย หนำซ้ำยังรุนแรงทวีคูณความเลวร้ายเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากปัจจัยเร้าทางแวดล้อม สังคม เศรษฐกิจ จนนำไปสู่ปัญหาสารพัดที่ไม่ใช่เพียงแต่การฆ่ากันตายเท่านั้น

บนเวทีเสวนานี้มีการกล่าวยกว่า ในช่วงแค่เพียงครึ่งเดือน ม.ค. 2562 สถานการณ์ความรุนแรงในครอบครัวเพิ่มมากขึ้นจนผิดปกติ ข่าวฆาตกรรม ฆ่ายกครัว ฆ่าหึงหวง เด็กถูกล่วงละเมิดทางเพศ จำนวนข่าวที่พุ่งสูงอาจเป็นเพราะสื่อให้ความสนใจเกี่ยวกับเรื่องราวเช่นนี้มากขึ้น และมีผู้หญิงที่ตกเป็นเหยื่อกล้าออกมาพูดถึงปัญหานี้เพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน

ซึ่งข้อมูลที่ทางมูลนิธิหญิงชายก้าวไกลดำเนินการรวบรวมไว้น่าจะประจักษ์ยืนยันในหลักฐานปัญหาสังคมว่าหนักหนาเพียงใด โดยพบว่าแค่เพียงช่วงเดือนแรกของปีนี้มีข่าวความรุนแรงในครอบครัวสูงถึง 28 ข่าว เป็นข่าวฆ่าคนในครอบครัว 20 ข่าว ฆ่าตัวตาย 4 ข่าว และถูกทำร้ายสาหัส 4 ข่าว พบว่าเกือบครึ่งใช้ปืนเป็นอาวุธ โดยกว่า 41 เปอร์เซ็นต์ มาจากความหึงหวงขอคืนดีไม่สำเร็จ ถัดมา 19 เปอร์เซ็นต์ เมา เสพยาเสพติด หากเทียบเคียงกับข่าวฆ่ากันตายเฉลี่ยในช่วงครึ่งเดือนแรกของปี 2561 พบเพียง 10 ข่าว นั่นแสดงว่ามีอัตราการเพิ่มสูงขึ้นเท่าตัวทีเดียว

นอกจากนี้ เรามักเห็นผู้ก่อเหตุแต่ละครั้งมาจากฝ่ายที่เริ่มลงมือก่อนทั้งสิ้น สอดคล้องกับข้อมูลของมูลนิธิส่งเสริมความเสมอภาคทางสังคม ที่ให้ข้อมูลไว้กับสื่อมวลชนกล่าวยืนยันว่าปัญหาความรุนแรงในครอบครัวที่เกิดขึ้นสาเหตุหลักคือ “สมาชิกในครอบครัวไม่ให้เกียรติ” และมองว่า “ผู้ชาย” คือผู้ก่อปัญหามากที่สุด เนื่องจากส่วนใหญ่พยายามตั้งตัวเป็นใหญ่ในบ้าน ไม่เคารพและให้เกียรติภรรยาหรือลูก โดยมากพฤติกรรมที่จะนำไปสู่การใช้ความรุนแรงก็คือการโต้เถียงประกอบกับการใช้ถ้อยคำที่ด่าทอ บั่นทอนจิตใจ การใช้อารมณ์ และพฤติกรรมการนอกใจ

ยังครอบคลุมถึงแรงกระตุ้นให้เกิดความรุนแรง คือ พฤติกรรมลอกเลียนแบบบุคคลในบ้านที่คุ้นเคยหรือบุคคลที่อยู่ใกล้ชิด การใช้ถ้อยคำ การใช้สารเสพติด การทำตัวเป็นผู้นำ และระบบแข่งขันภายในครอบครัว

การป้องกันปัญหาความรุนแรงในครอบครัวของสังคมไทย เราไม่ควรนิ่งเฉยปัดให้เป็นปัญหาของคนอื่น แต่ควรเข้าไปดำเนินการแก้ไขตามมาตรการที่มีอยู่ตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง ปลายทาง เพื่อผลสัมฤทธิ์ที่เกิดประโยชน์กับทุกคน เน้นการปลูกฝัง การใช้เหตุผล และการส่งเสริมจริยธรรม ที่เน้นการเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีภายในครอบครัว รวมไปถึงการส่งเสริมให้เกิดการส่งผ่านความเชื่อและค่านิยมที่ดีงามและถูกต้องจากรุ่นสู่รุ่น

โดยเฉพาะการสร้างพื้นฐานความเข้าใจใน “สถาบันครอบครัว” ที่จะบ่มเพาะเมล็ดพันธุ์ในครอบครัวสู่สังคมอย่างมีคุณภาพและยั่งยืนตลอดไป