posttoday

ตามรอยญี่ปุ่น

18 มกราคม 2562

ญี่ปุ่นเจอวิกฤตแรงงานขาดแคลนอย่างหนัก เพราะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ

เรื่อง กัปตัน ป. 

ญี่ปุ่นเจอวิกฤตแรงงานขาดแคลนอย่างหนัก เพราะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุมานานหลายปีแล้ว ต้องนำเข้าแรงงานและเพิ่มอาชีพให้ต่างด้าวทำได้ ซึ่งเปรียบเทียบกับประเทศไทยกลับเป็นอาชีพต้องห้าม ตัวอย่างเช่น พยาบาล ก่อสร้าง และวิศวกร ฯลฯ ต้นตอของปัญหาเพราะเมื่ออัตราการเกิดน้อยกว่าอัตราการตาย คนแก่ล้นประเทศ จึงขาดแรงงานที่เป็นคนรุ่นใหม่มาทำงานทั้งภาคบริการหรือการผลิตที่ต้องใช้กำลังแรงงาน

แม้ญี่ปุ่นจะเป็นประเทศล้ำหน้าทางเทคโนโลยี ปัญญาประดิษฐ์ หรือเอไอ หุ่นยนต์ก้าวล้ำไปมากแต่ยังมีงานบางอย่างที่ต้องใช้คน จึงขาดคนทำงานบางประเภท สำหรับคนแก่ญี่ปุ่นจะได้รับเงินบำนาญยังชีพตามที่รัฐบาลจัดสรรให้แต่ก็ยังไม่พอกับการดำรงชีพ

ตัวอย่าง งานบริการโรงแรมในญี่ปุ่นส่วนใหญ่ใช้ระบบเทคโนโลยีบริหารจัดการหมด เพราะขาดแคลนแรงงาน เพราะญี่ปุ่นมีแต่คนแก่ จึงใช้เทคโนโลยีแทนคน เช่น ไม่มีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย เด็กเก็บกระเป๋า เด็กเปิดประตู หรือเด็กรับรถ ทุกอย่างบริการลูกค้าผ่านคีย์การ์ดเพียงใบเดียว ส่วนงานที่ใช้แรงงาน เช่น งานแม่บ้านทำความสะอาด จะใช้ระบบจ้างเหมา (เอาต์ซอร์ส) ให้บริษัทอื่นมารับช่วงต่อ แต่ก็ต้องมีแรงงานคน เช่น งานบริการเสิร์ฟอาหารหรือทำกับข้าวในครัวส่วนใหญ่เป็นคนแก่ ที่ต้องทำงานต่อไปเพื่อหารายได้มาดำรงชีพ แต่งานส่วนใหญ่ไม่ใช้กำลังมากนัก

ถามว่าคนรุ่นใหม่ในญี่ปุ่นไปทำงานอะไร จากคำบอกเล่าของคนไทยที่ทำงานที่ญี่ปุ่น เด็กรุ่นใหม่ชอบทำงานเบาๆ ไม่หนัก งานที่ใช้เทคโนโลยี ดังนั้นพนักงานญี่ปุ่นจึงค่าแรงสูงมาก เพราะลดการใช้แรงงาน มุ่งใช้เทคโนโลยีมาทดแทนคน

กล่าวง่ายๆ คนญี่ปุ่นจะคุมระบบ เมื่อผู้ประกอบการไม่จ้างคน ใช้เทคโนโลยีแทน ย่อมจ่ายค่าจ้างที่สูงขึ้นได้ จึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่คนรุ่นใหม่ทำงานแต่ละแห่งได้ไม่นาน ย้ายงานบ่อยมากๆ เพื่อยกระดับรายได้ไปเรื่อยๆ ส่วนแรงงานระดับกลางๆ เฉพาะกลุ่มแรงงานใช้กำลังในญี่ปุ่นจะมีแรงกดดันสูงมาก ด้วยภาระค่าครองชีพที่สูง

ที่สำคัญอัตราจัดเก็บภาษีทั้งแรงงานในระบบหรือนอกระบบแพงมาก เพราะภาครัฐต้องการนำเงินจากภาษีสะสมตรงนี้ไปจ่ายคืนเป็นเงินบำนาญแก่คนญี่ปุ่นเมื่อเกษียณ เฉลี่ยเดือนละ 1.5 แสนบาท/คน/เดือน ต่างกับไทยราวฟ้ากับเหว คนแก่ในเมืองไทยได้รับเดือนละ 600 บาท ดังนั้นคนแก่ญี่ปุ่นมีกำลังซื้อสูง ธุรกิจการจัดบริการดูแลผู้สูงอายุในญี่ปุ่นจึงอยู่ได้ บวกกับภาครัฐสนับสนุนธุรกิจผู้สูงอายุ โรงพยาบาล หรือสถานบริบาลแก่ผู้สูงอายุ จะได้รับการลดหย่อนภาษีอัตราสูงมากๆ

ภาวะขาดแคลนแรงงานญี่ปุ่นเด่นชัดในปี 2020 ญี่ปุ่นเป็นเจ้าภาพโอลิมปิก เกิดการเติบโตงานก่อสร้าง จึงต้องการแรงงานก่อสร้าง แรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานหลักๆ เช่น คนเวียดนาม คนอินโดนีเซีย หรือคนไทย เป็นต้น ถามว่าค่าจ้างดีไหม แทบทุกคนตอบว่าดี แต่มาหักลบค่าครองชีพ บ้านเราดีกว่าเยอะ แต่ถ้าไปเพื่อหาประสบการณ์ด้านอาชีพและภาษาก็พอรับได้

แต่ถ้าถามว่าค่าแรงกับค่าครองชีพกับคนงานไทย ทุกคนตอบว่าไม่คุ้ม ระยะหลังญี่ปุ่นพยายามนำเข้าแรงงานจีนที่มีฝีมือ แรงงานในระดับวิศวกรจีนยังไม่มาทำงานที่ญี่ปุ่น เพราะเห็นด้วยกับคนไทยในข้อนี้ แต่สิ่งที่แรงงานจีนไปญี่ปุ่นจะเป็นแบบไปลงทุนมากกว่า

ประเทศไทยกำลังเดินตามรอยญี่ปุ่นเข้าไปทุกขณะ แต่ปัญหาหนักหน่วงกว่า คือ คนแก่ไทยไม่มีเงินออมและไม่มีงานทำ ที่สำคัญคนแก่ไทยจะอยู่ยังไงกับเงินเกษียณที่ได้รับเดือนละ 600 บาท