posttoday

ธนาคารแรงงาน

11 มกราคม 2562

นับวันความน่าเชื่อถือต่อระบบสหกรณ์ออมทรัพย์เสื่อมทรุดไปเรื่อยๆ จากปัญหายักยอกฉ้อโกง

เรื่อง กัปตัน ป.

นับวันความน่าเชื่อถือต่อระบบสหกรณ์ออมทรัพย์เสื่อมทรุดไปเรื่อยๆ จากปัญหายักยอกฉ้อโกง ขาดความสามารถด้านการเงินและการลงทุนของผู้บริหารที่มุ่งใช้สารพัดเล่ห์กลหากินกับเงินฝากของสมาชิก ยิ่งสหกรณ์ใดมีสมาชิกมากๆ เม็ดเงินฝากสูงยิ่งล่อใจ ฟอกเงิน ปล่อยกู้ให้พวกพ้อง นำเงินไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ หรือลักลอบกู้ยืมกันระหว่างสหกรณ์ นี่คือจุดจบของระบบสหกรณ์ของภาคผู้ใช้แรงงานที่วันนี้รอวันล้มละลาย

ปัญหาสหกรณ์ปัจจุบันเพราะบริหารแบบปกครองตนเองโดยกรรมการสหกรณ์ที่ผูกโยงกับสหภาพของแต่ละองค์กร ขณะที่สมาชิกส่วนใหญ่ล้วนไม่รับทราบถึงการบริหารภายในของกรรมการ ขาดระบบตรวจสอบจากผู้เชี่ยวชาญหรือมืออาชีพ เพราะสมาชิกส่วนใหญ่มุ่งแต่ทำงานไม่มีเวลาหรือความรู้ ขาดการมีส่วนร่วม จึงเปิดช่องให้กรรมการงุบงิบโกงเงินไปได้ง่ายๆ

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์พยายามเข้ามาแก้ปัญหาเรื้อรังอันนี้แต่สายเกินไปที่จะคืนชีพ ความน่าเชื่อถือศรัทธา ยิ่งสถานการณ์การจ้างงานเปลี่ยนไป หลักการจัดตั้งสหกรณ์ปัจจุบันไม่ตอบโจทย์

ปัญหาผู้ใช้แรงงาน คือ กำลังถูกเลิกจ้าง ลูกหลานไร้ทิศทางการศึกษาและอาชีพในยุค 4.0 เทคโนโลยีเข้ามาแทนคน ถูกรุมเร้าด้วยปัญหาหนี้สิน รายได้ไม่เพียงพอรายจ่าย แรงงานมุ่งทำงานล่วงเวลา จนมีผลกระทบต่อสุขภาพและความอบอุ่นในครอบครัว ระบบสหกรณ์ทำหน้าที่เพียงหักเงินผ่านสลิปทุกเดือนๆ ฝากเงินในอนาคตที่ไม่แน่ไม่นอนว่าจะถูกโกงเมื่อไร แถมระบบสหภาพ หรือนายจ้าง ก็ไม่ได้ส่งเสริมให้ลูกจ้างมีสถานะทางเศรษฐกิจให้ดีขึ้น ทั้งด้านการออม การสร้างรายได้เสริม หรือเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมเสี่ยงต่างๆ ดังนั้นสหกรณ์หลายแห่งสมาชิกพากันลาออกจากทั้งเป็นสมาชิกสหภาพและสหกรณ์ เพราะไม่เห็นความสำคัญของทั้งสองระบบ

ทางแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจภาคแรงงาน คือ ต้องสร้างฐานเศรษฐกิจแบบพึ่งตนเอง ข้อเสนอหนึ่ง คือ ธนาคารแรงงาน แต่ขอย้ำว่าหลักการตั้งธนาคารแรงงานไม่ใช่เป็นแหล่งเงินทุนและแหล่งเงินออม เพราะแหล่งทุนดีๆ หรือเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำๆ สถาบันการเงินของรัฐ หรือโครงการภาครัฐ มีบริการเต็มไปหมด เช่น กองทุนหมู่บ้านฯ หรือโปรโมชั่นธนาคารรัฐทั่วๆ ไป

แต่หลักการของธนาคารแห่งนี้ คือ ต้องเสริมสร้างศักยภาพและประสิทธิภาพแรงงานตั้งแต่ ก่อน-เข้า-หลัง ออกจากตลาดแรงงาน กล่าวคือ ก่อนเข้าสู่ตลาดแรงงานจะเน้นปล่อยสินเชื่อแก่พ่อแม่ผู้ใช้แรงงานที่ต้องการส่งลูกหลานเรียนต่อสายวิชาชีพ หรือเข้าตลาดแรงงาน ต้องการนำเงินทุนไปพัฒนาทักษะฝีมือ หรือสร้างอาชีพเสริม เข้านโยบาย “1 วิถี 2 การผลิต” คือ ทำงานในโรงงาน และมีอาชีพเสริมที่บ้าน เช่น เปิดร้านขายของที่ผลิตสินค้าจากโรงงานที่ตัวเองทำงานอยู่

ธนาคารแห่งนี้จะต้องสร้างเครือข่ายเพื่อการลงทุนทางเศรษฐกิจระหว่างสหภาพแรงงาน หรือระหว่างชุมชนผู้ใช้แรงงาน เช่น จ.ปราจีนบุรี มีผู้ใช้แรงงานกว่าล้านคนใน 5 เขตนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ที่ล้วนผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคทั้งส่งออกและจำหน่ายในประเทศ สามารถนำร่องโครงการ สินค้าลดราคาจากโรงงาน โดยธนาคารแรงงานสนับสนุนเงินกู้และการรวมตัวของผู้ใช้แรงงานไปเจรจาต่อรองกับนายจ้างนำสินค้าโรงงานมาเปิดตลาดนัดแรงงาน หรือขายทางออนไลน์ เช่น อาหารแปรรูปไก่แช่แข็ง ปลาเส้น รองเท้าแตะ เซรามิก น้ำดื่มบรรจุขวด เป็นต้น

นโยบายธนาคารแรงงาน คือ หนทางส่งเสริมฐานสร้างเศรษฐกิจพึ่งตนเอง สร้างความมั่นคงทางรายได้ ลดความเสี่ยงจากการถูกเลิกจ้าง และสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่ตัวเองและลูกหลานที่จะเป็นแรงงานในอนาคต