posttoday

ประชันไทย-เวียดนาม

10 มกราคม 2562

เป็นเรื่องน่าติดตามอีกครั้งเมื่อมีกระแสข่าวว่าประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์

เรื่อง ณ กาฬ เลาหะวิไลย

เป็นเรื่องน่าติดตามอีกครั้งเมื่อมีกระแสข่าวว่าประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ เตรียมประชุมสุดยอดผู้นำกับประธานาธิบดี คิมจองอึน ของเกาหลีเหนือเป็นรอบที่ 2

และทีมงานทำเนียบขาวของสหรัฐส่งทีมเก็บข้อมูลระหว่างกรุงเทพฯ ฮานอยและฮาวาย

เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ประธานาธิบดี ทรัมป์ เพิ่งบอกว่า สหรัฐกำลังหารือเรื่องสถานที่จัดประชุมรอบ 2 แต่ยังไม่ได้ตัดสินใจในขั้นสุดท้าย

แต่ทว่ามีกระแสข่าวทำนอง ได้เล็งสถานที่ 3 แห่งเอาไว้

เริ่มจากฮาวาย ประเทศสหรัฐถูกหยิบยกขึ้นมาท่ามกลางความสงสัยว่าจะดำเนินการได้จริงหรือไม่

สาเหตุเนื่องจากฮาวาย ไม่มีสถานทูตของเกาหลีเหนือ ถ้าจะให้จัดประชุมในสหรัฐแล้ว นิวยอร์กยังจะเป็นไปได้มากกว่า เนื่องจากมีคณะผู้แทนของเกาหลีเหนือประจำอยู่

หมายความว่าโอกาสของฮาวายอาจลดน้อยลง

กรุงเทพฯ เป็นตัวเลือกถัดมา เนื่องจากไทยมีความสัมพันธ์ทางการทูตกับเกาหลีเหนือ มีความคล้ายคลึงกับสิงคโปร์ที่เคยจัดประชุม 2 ผู้นำไปเมื่อเดือน มิ.ย.ปีที่แล้ว

หากเลือกกรุงเทพฯ เกาหลีเหนือสามารถส่งทีมงานมาเตรียมการประชุมโดยผ่านสถานทูตได้ ซึ่งแตกต่างจากฮาวายโดยสิ้นเชิง

อย่างไรก็ตาม ฮานอย ก็ยังเป็นสถานที่คู่แข่งสำคัญจากการที่มีความสัมพันธ์อย่างแนบแน่นทั้งสหรัฐและเกาหลีเหนือ

เวียดนามเปิดประเทศครั้งใหญ่ โดยสหรัฐกลายเป็นผู้ลงทุนสำคัญ ได้มีการริเริ่มข้อตกลงทางการค้าอย่างมากมาย จนได้ประโยชน์มหาศาลจากการค้าขายกับสหรัฐ

นอกจากนั้น เวียดนามยังมีความสัมพันธ์ที่ดีกับเกาหลีเหนือ เป็นประเทศสังคมนิยมเหมือนกัน แต่ได้ผ่านการปฏิรูปทางเศรษฐกิจมาแล้ว

หากมีการจัดประชุมที่ฮานอย เกาหลีเหนือก็สามารถดำเนินการผ่านสถานเอกอัครราชทูตที่กรุงฮานอยเช่นกัน

แต่อีกกระแสเสียงก็มีความเห็นแย้ง การจัดประชุมซัมมิตที่ฮานอย จะเป็นการส่งสัญญาณที่ผิดพลาด โดยจะเกิดการเปรียบเทียบระหว่างเกาหลีเหนือกับเวียดนามที่ปกครองด้วยระบอบสังคมนิยมเหมือนกัน แต่เวียดนามเปิดรับการลงทุนจากต่างประเทศและพัฒนาไปสู่ความทันสมัย

สิ่งเหล่านี้อาจไม่เป็นที่ชื่นชอบของประธานาธิบดีคิม ที่ไม่ต้องการจะเลียนแบบ ด้วยเหตุที่สุ่มเสี่ยงต่อการเสียอำนาจในการควบคุมภายในประเทศ

ทั้งหมดก็คงต้องรอ

แล้วการเป็นเจ้าภาพจัดประชุมน่าสนใจตรงไหน

ย้อนการประชุมครั้งก่อนที่โรงแรมคาเปลลา บนเกาะเซนโตซา ในแง่รายจ่ายรัฐบาลสิงคโปร์ต้องควักเงิน 20 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ หรือเกือบๆ 500 ล้านบาท

แต่เมื่อเทียบนักข่าวทั่วโลกยกขบวนกันมา รายงานข่าวตลอดวันตลอดคืน ถ้านับเฉพาะค่าโฆษณาชื่อประเทศที่เผยแพร่ไปทั้งโลก รวมไปถึงการนำเสนอข่าวอื่นๆ ในหลากหลายมิติของสิงคโปร์

ลงทุนแค่นี้คุ้มเสียยิ่งกว่าคุ้ม