posttoday

ช่วยไม่ได้เกิดมาจน

27 ธันวาคม 2561

ทุกข์ของคนทำมาหากิน ไม่มีอะไรเกินการขาดแคลนเงิน และต้องไป

โดย ณ กาฬ เลาหวิไลย

ทุกข์ของคนทำมาหากิน ไม่มีอะไรเกินการขาดแคลนเงิน และต้องไปพึ่งพาเงินกู้นอกระบบ

เมื่อวานนี้ มีข่าวเจ้าของร้านอาหารที่พัทยา จ.ชลบุรี แจ้งความถูกแก๊งเงินกู้นอกระบบยกพวกตามทวงเงินจนหวาดผวาไม่กล้าอยู่บ้าน

เจ้าของร้านแห่งนี้ กู้เงินมา 7 หมื่นบาท แต่ต้องกัดฟันเสียดอกเบี้ยร้อยละ 60 ต่อเดือน

ฟังแล้วก็ถึงกับอึ้ง

ร้อยละ 60 หรือเท่ากับปีละ 720%

เฉพาะค่าดอกเบี้ยจ่ายเดือนละ 4.2 หมื่นบาท ทั้งปีก็โดนเข้าไป 5.04 แสนบาท

และตามข้อมูลที่แจ้งความมา ปรากฏว่า เงินกู้ที่ว่าต้องจ่ายค่าส่งวันละ 1,400 บาท

ฟังแล้วเป็นลมสลบ เพราะการจ่ายหนี้วันละพันกว่าบาท แต่ละเดือนก็จะเป็นเงิน 4.2 หมื่นบาท เท่ากับค่าดอกเบี้ยพอดี

หมายความว่าทั้งปีทั้งชาติ ก็ต้องส่งเงินไปวันละ 1,400 บาท ไม่มีทางใช้หนี้หมด เพราะส่งเท่าไหร่ก็เป็นเฉพาะค่าดอกเบี้ย

ปัญหาก็มาเกิดขึ้นอีก เพราะค้าขายไม่ดี ส่งดอกเบี้ยให้ไม่ได้

แก๊งเงินกู้โหด ก็เลยยึดเอารถไปขัดดอก

แต่จนแล้วจนรอด ก็ยังจ่ายดอกเบี้ยไม่ได้ กระทั่งเงินต้นไม่พูดถึง เฉพาะดอกเบี้ยก็ค้างไปถึง 3 แสนบาท

เรียกว่าชาตินี้อย่างไรเสียก็จ่ายไม่ได้

เมื่อมีปัญหาการจ่ายหนี้เรื่อยๆ แก๊งเงินกู้ที่ว่า ก็พานักเลงเดินเฉียดไปเฉียดมา จนสร้างความหวาดหวั่น ต้องมาแจ้งความ

นี่แหละคือเรื่องราวทั้งหมดที่ฟังแล้วหดหู่สิ้นดี

เฉพาะการปล่อยเงินกู้นอกระบบดอกโหดร้อยละ 60 ต่อเดือน อย่างไรเสียก็ผิดกฎหมายอยู่แล้ว

สาเหตุเนื่องจากรัฐบาลตรากฎหมายสำคัญคือ พระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2560 ออกมาบังคับใช้แล้ว

หลักการสำคัญของกฎหมายก็คือกำหนดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ไว้ไม่เกิน 15% ต่อปี หรือ 1.25% ต่อเดือน

ใครที่ไปกู้เงินและเสียดอกเบี้ยเกินกว่านี้ ให้ถือว่าเป็นโมฆะ ไม่ต้องจ่ายดอกเบี้ย และให้จ่ายคืนเฉพาะเงินต้นเท่านั้น

แต่ปัญหาก็คือแม้จะมีการตรากฎหมายเพื่อป้องกันเงินกู้โหดแล้ว ชาวบ้านส่วนใหญ่ก็ยังไม่รู้ และต้องไปเสียดอกเบี้ยโหด

นอกจากนั้นยังมีกรณีที่พอรู้บ้าง แต่ก็จำเป็นต้องใช้เงิน แม้ดอกเบี้ยจะสูงแค่ไหนก็ต้องกู้เอามาใช้ก่อน

แม้รู้ว่าดอกเบี้ยโหดเป็นเหมือนน้ำผสมยาพิษ แต่เมื่อหลงในทะเลทรายก็ต้องกิน

ทั้งหมดสะท้อนให้เห็นจากข่าวมากมายถึงขบวนการปล่อยกู้นอกระบบที่ใช้กำลังเข้าคุกคามบรรดาลูกหนี้

ความจน และปัญหาการไร้ความสามารถในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ยังคงมีอยู่

กี่รัฐบาล หลากหลายมาตรการออกมาก็แก้ปัญหาไม่ได้หมด

ใครจะทำ แก้ปัญหาอย่างไร ลองบอกมาสักที