posttoday

ความหมายของชีวิต

21 ธันวาคม 2561

ชมพูทวีป หรืออินเดียเป็นดินแดนหลากลัทธิ หลากความเชื่อ

โดย.. ณ กาฬ เลาหะวิไลย

ชมพูทวีป หรืออินเดียเป็นดินแดนหลากลัทธิ หลากความเชื่อ เป็นแผ่นดินสำหรับการแสวงหาความหมายของชีวิตมาอย่างเนิ่นนาน

พระพุทธศาสนาเองก็มีจุดเริ่มต้นที่อินเดียโดยเป็นผลจากจิตปณิธานของเอกบุรุษ ต้องการพ้นทุกข์ แสวงหาความหมายของชีวิต

เมื่อต้นเดือน ธ.ค.ที่ผ่านมา มูลนิธินักศึกษาสถาบันพระปกเกล้าเพื่อสังคม จัดโครงการบวชถวายเป็นพระกุศลแด่สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช โดยเดินทางไปอินเดีย เนปาล ในสังเวชนียสถาน 4 ก็เป็นช่วงหนึ่งที่ทำให้ระลึกถึงคุณค่า ความหมายของชีวิต

สังเวชนียสถาน 4 ประกอบด้วยเรื่องราว ความเป็นมามากมาย เกี่ยวพันกับมหานครที่เคยรุ่งเรืองในอดีต แคว้นมหาอำนาจอย่างมคธ แคว้นโกศล แต่บัดนี้อาณาจักรเหล่านี้กลับอันตรธาน

ราชา มหากษัตริย์ ตั้งแต่พระเจ้าพิมพิสาร พระเจ้าอชาตศัตรู พระเจ้าปเสนทิโกศล จนถึงพระเจ้าอโศกมหาราช ล่วงลับ ไม่เหลือ

วัน เวลา เดือน ปี ร้อยปี พันปี เพียงชั่วลัดมือเดียว ที่เคยรุ่งเรืองกลับเสื่อมสิ้น แม้พระพุทธศาสนาก็มียุคเฟื่องฟู แล้วสูญหาย เป็นอนิจจลักษณะ ความไม่เที่ยงแสดงให้เห็น

มหาเศรษฐีในอดีต อนาถบิณฑิกเศรษฐี ร่ำรวยมหาศาล ก่อนเสียชีวิต ป่วยอาการหนัก ทุกข์ทรมาน โดยในปัจจุบันคงเทียบได้กับเป็นมะเร็ง

ขนาดลมกระทบขม่อม ก็เหมือนโดนของแหลมคมทิ่ม ลมกระทบศีรษะเหมือนถูกขันชะเนาะบีบรัด เพียงลมปั่นป่วนท้องก็ราวถูกคมมีดมาคว้าน ร่างกายรุ่มร้อนทรมานเหมือนถูกย่างในหลุมถ่านเพลิง

พระสารีบุตร อัครสาวกเบื้องขวาพระบรมศาสดาไปเทศนาอนาถบิณฑิกเศรษฐี ในช่วงสุดท้ายของชีวิต

ธรรมะที่พระสารีบุตรแสดงหวังดับความทรมานให้อนาถบิณฑิกเศรษฐี ด้วยการละความยึดมั่นถือมั่น ชี้ไปถึงอายตนะ 6 สิ่งที่เป็นสื่อเชื่อมการติดต่อกันระหว่างสิ่งภายในและสิ่งภายนอก โดยเริ่มอรรถาธิบายถึง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เป็นพื้นฐาน กับสิ่งภายนอกที่เป็นคู่กัน คือ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ธรรมารมณ์ หรืออารมณ์ที่เกิดทางใจ

เมื่อสิ่งภายนอกมา ผัสสะ-กระทบ กับสิ่งภายใน จะมีวิญญาณ สร้างความรับรู้ให้เกิดขึ้น เวทนาก็จะเข้ามาทำให้เกิดความสุข ความทุกข์

แต่ทั้งหมดเป็นสิ่งไม่ควรยึดมั่น รูป-ร่างกายก็สักแต่เพียง ธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ เมื่อมีเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ มาประกอบร่วมจึงเป็นขันธ์ 5 สกลกาย ยึดมั่นถือมั่นเป็นตัวเป็นตน

รูปรวมถึงอื่นๆ ในขันธ์ 5 จึงไม่ควรยึดมั่น แม้ในภาวะอรูป หรือไม่มีรูป ก็ไม่ควรยึดถือ โดยไม่ยึดทั้งโลกนี้ โลกหน้า รวมถึงอารมณ์ต่างๆ

สุดท้าย อนาถบิณฑิกเศรษฐี ทุกขเวทนาบรรเทา คลายความยึดมั่น ถือมั่น แต่ขอให้พระสารีบุตรนำธรรมะนี้ไปสั่งสอนชาวพุทธอื่นๆ ด้วย เนื่องจากเป็นธรรมะที่มีค่ากว่าทรัพย์ทั้งปวง เพียงเสียดายที่ตัวได้รับฟังช้าไปในช่วงที่เทียนใกล้ดับแสง เป็นการค้นพบความหมายในชีวิต สิ่งที่มีคุณค่าก่อนสิ้นลม

ฟังเรื่องอนาถบิณฑิกเศรษฐีแล้ว อดน้อมระลึกถึงปัจฉิมโอวาท ธรรมะก่อนปรินิพพานขององค์พระศาสดา โดยทรงแสดงว่า

สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา

จงยังประโยชน์ตนและท่านให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาทเถิด