posttoday

น่าคิดกัญชาไทย

21 พฤศจิกายน 2561

ชาวสายเขียวยังใจจดใจจ่อกับเรื่องกัญชา ว่าสุดท้ายจะใช้ประโยชน์ได้อย่างไร

เรื่อง...สลาตัน

ชาวสายเขียวยังใจจดใจจ่อกับเรื่องกัญชา ว่าสุดท้ายจะใช้ประโยชน์ได้อย่างไร รวมถึงข้อกังวลที่หลายฝ่ายเกรงว่าบริษัทฝรั่งที่แอบยื่นคำร้องจดสิทธิบัตรกัญชากับกรมทรัพย์สินทางปัญญา จนมีการตั้งข้อสังเกตหลายประเด็น แต่มีข้อมูลน่าสนใจจาก BIOTHAI ของมูลนิธิชีววิถี ที่เล่าถึงสรรพคุณของกัญชาไทย รวมถึงการใช้ในตำรับยาไทยตั้งแต่เมื่อ 300 ปีก่อน ถือว่านานพอดู

สำหรับข้อความที่มูลนิธิชีววิถีได้โพสต์ข้อความไว้ว่า ทางกรมการแพทย์แผนไทยฯ ได้รวบรวมตำรับยาที่เข้ากัญชาพบว่ามีมากถึง 93 ตำรับ รวมทั้งตำราพระโอสถพระนารายณ์ ซึ่งมีอายุเก่าแก่มานานกว่า 300 ปี

ตัวอย่างเช่น ยาขนานที่ 43 ชื่อทิพกาศ “ทิพกาศ เอา ยาดำ เทียนดำ ลูกจันทน์ ดอกจันทน์ กระวาน พิมเสน สิ่งละส่วน การบูร 4 ส่วน ฝิ่น 8 ส่วน ใบกัญชา 16 ส่วน สุราเปนกระสาย บดทำแท่ง น้ำกระสายใช้ให้ชอบโรคร้อนแลเย็น กินพอควร แก้สารพัดทั้งหลายอันให้ระส่ำระสาย กินข้าวมิได้ นอนมิหลับ ตกบุพโพโลหิต ลงแดง หายแลฯ”

หรือยาขนานที่ 44 ชื่อยาสุขไสยาศน์ สุขไสยาศน์ เอาการบูรส่วน 1 ใบสะเดา 2 ส่วน สหัศคุณเทศ 3 ส่วน สมุลแว้ง 4 ส่วน เทียนดำ 5 ส่วน โกฏกระดูก 6 ส่วน ลูกจันทน์ 7 ส่วน ดอกบุนนาค 8 ส่วน พริกไทย 9 ส่วน ขิงแห้ง 10 ส่วน ดีปลี 11 ส่วน ใบกัญชา 12 ส่วน ทำเป็นจุณละลายน้ำผึ้ง เมื่อจะกินเสกด้วยสัพพีติโย 3 จบ แล้วกินพอควร แก้สรรพโรคทั้งปวงหายสิ้น มีกำลังกินเข้าได้นอนเป็นศุขนักแลฯ

ทั้งนี้ รวมถึงตำรับยาอื่นๆ และสูตรยาจากกัญชาจากหมอพื้นบ้านที่ใช้ในการรักษาโรคต่างๆ เช่น ระงับปวด ลมชัก อาการทางประสาทต่างๆ เป็นต้น

รัฐบาลอินเดียได้ใช้ตำราอายุรเวท ตลอดจนการบันทึกความรู้จากท้องถิ่นดังกล่าวในการต่อสู้คัดค้านการขอรับสิทธิบัตรในต่างประเทศ ดังในกรณีสิทธิบัตรขมิ้นชันเพื่อรักษาบาดแผล และสิทธิบัตรสะเดาสำหรับการใช้ควบคุมแมลง เป็นต้น

ภายใต้อนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพที่ประเทศต่างๆ ทั่วโลกเป็นภาคี (ยกเว้นสหรัฐอเมริกา) มีเงื่อนไขเกี่ยวกับการต้องขออนุญาตในการเข้าถึง และแบ่งปันผลประโยชน์อย่างยุติธรรมจากทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่น กฎหมายสิทธิบัตรของหลายประเทศได้กำหนดให้ผู้ยื่นขอสิทธิบัตรต้องแสดงที่มาของพันธุ์พืชและความรู้ของท้องถิ่น เป็นเงื่อนไขหนึ่งของการขอรับสิทธิบัตร

แต่กรมทรัพย์สินทางปัญญาของไทยกลับละเลยการปกป้องทรัพยากรและภูมิปัญญาท้องถิ่น ทั้งๆ ที่เป็นส่วนหนึ่งของกติการะหว่างประเทศ ทั้งๆ ที่สิ่งนี้จะเป็นเครื่องมืออย่างสำคัญในการปฏิเสธสิทธิบัตรที่มิชอบ และ/หรือการสร้างเงื่อนไขให้บริษัทที่จดสิทธิบัตร ซึ่งพัฒนาจากความรู้เกี่ยวกับสมุนไพรและภูมิปัญญาท้องถิ่น ต้องเจรจาก่อนหน้าที่จะให้การคุ้มครองการประดิษฐ์ก่อน เป็นต้น

ข้อกังวลที่มูลนิธิชีววิถีแสดงความเห็นไว้ หลายอย่างกระตุกต่อมให้คิดว่าเราควรทบทวนรักษาผลประโยชน์จากกัญชาและรักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติไว้อย่างไร เนื่องจากมีมูลค่าทางเศรษฐกิจที่มหาศาล สังเกตเห็นชัดจากหลายประเทศกำลังผลักดันใช้ประโยชน์กัญชาเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ

หลายตำรับยาโบราณมีการใช้มานมนาน โดยผ่านวิธีการรักษาในตำรับพื้นบ้านไม่ต้องพึ่งยาแผนปัจจุบัน พืชพรรณสมุนไพรไทยหลายอย่างเราถูกต่างชาติฉกฉวยโอกาสไปมากพอแล้ว อย่าปล่อยให้พวกฝรั่งมากอบโกยของล้ำค่าจากประเทศไทยอีกเลย