posttoday

แบบ EARTH ยังมีอีกไหม

20 พฤศจิกายน 2561

ต้องยกให้เป็นกรณีประวัติศาสตร์ของตลาดหุ้นไทย กับปมปัญหาของ บริษัท เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ หรือ EARTH

เรื่อง...ณ กาฬ เลาหะวิไลย

ต้องยกให้เป็นกรณีประวัติศาสตร์ของตลาดหุ้นไทย กับปมปัญหาของ บริษัท เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ หรือ EARTH

ปัญหาของกิจการแห่งนี้ก็คือการถูกกล่าวโทษจาก สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ว่าเกิดการฉ้อฉล หลายครั้ง หลายกรณี จนน่าตกตะลึง

ปมสำคัญที่นำ EARTH ติดหล่ม เริ่มจากปัญหากระแสเงินสด การถูกตัดสินเชื่อ จนยื่นเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ โดยยกเหตุการมีหนี้สินล้นพ้นตัว

แต่ทว่าเรื่องดังกล่าว ไม่ใช่ภาวะปกติ

เพราะข้อมูลที่ EARTH ส่งงบการเงินในไตรมาส 1/2560 ยังมีส่วนของทุนอยู่ถึง 10,349 ล้านบาท แต่ต่อมามีการแจ้งยอดหนี้สินเพิ่มขึ้น 26,000 ล้านบาทเศษ จนทำให้ส่วนของทุนติดลบ 15,651 ล้านบาท

ก.ล.ต.สอบสวนข้อมูลที่เกี่ยวข้อง ในที่สุดนำไปสู่การกล่าวโทษหลายกรณี

ครั้งแรก - ก.ล.ต.กล่าวโทษอดีตกรรมการและผู้บริหาร ในเดือน มิ.ย. 2561 รวม 11 ราย ต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ในข้อหาลงข้อความเท็จ หรือไม่ลงข้อความสำคัญในเอกสารที่เกี่ยวกับหนี้สิน จากการที่มีตัวเลขหนี้สินเพิ่มพรวดพราด

ครั้งที่ 2 - เกิดขึ้นเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ที่ ก.ล.ต.กล่าวโทษอดีตกรรมการ ผู้บริหาร เพิ่มหลายกรณี

เริ่มจาก ก.ล.ต.ระบุว่า อดีตกรรมการ ผู้บริหาร 7 ราย และกลุ่มเจ้าหนี้ผู้รับมอบอำนาจอีก 10 ราย สมรู้ร่วมคิดกันสร้างหนี้เทียม

ทั้งหมดเป็นพฤติกรรมแกล้งให้บริษัทเป็นหนี้ เพื่อให้เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ โดยอาศัยมูลหนี้ซึ่งไม่เป็นความจริง ไม่สมเหตุสมผล ทั้งที่อยู่ในวิสัยที่ทราบว่าหนี้ดังกล่าวไม่สามารถบันทึกบัญชีได้

ซ้ำร้ายยังพบหลักฐานการนำทรัพย์สินออกจากบริษัท เพื่อให้เจ้าหนี้นำไปใช้ในการดำเนินการทางกฎหมายกับ EARTH อีกด้วย

ช่วงเวลาดังกล่าว EARTH กับเจ้าหนี้บางราย ยังร่วมทำธุรกรรมต่างๆ หลายรายการ นำทรัพย์สินออกจากบริษัทในลักษณะที่ไม่เป็นไปตามขั้นตอนการดำเนินการปกติ ไม่มีความสมเหตุสมผล และเอื้อประโยชน์ให้กับเจ้าหนี้บางรายเป็นกรณีพิเศษ

หรือพูดง่ายๆ เป็นการเบียดบังทรัพย์สินของบริษัทออกไปให้บุคคลอื่น

ขณะเดียวกันยังมีกรรมการผู้บริหารอีก 11 ราย ใช้ข้อมูลภายในขายหุ้นออกมาจากการที่รู้ว่าบริษัทขาดสภาพคล่อง และสถาบันการเงินปฏิเสธการขอขยายเวลาการชำระหนี้ สร้างประโยชน์ให้ตัวเอง

คณะกรรมการพิจารณามาตรการลงโทษทางแพ่ง (ค.ม.พ.) มีมติให้นำมาตรการลงโทษ ปรับผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง แต่บุคคลเหล่านั้นปฏิเสธไม่ยินยอมจ่ายค่าปรับ

ก.ล.ต.จึงทำหนังสือถึงอัยการดำเนินการฟ้องต่อศาลแพ่ง เพื่อขอให้กำหนดมาตรการลงโทษทางแพ่งในอัตราโทษสูงสุด

นอกจากนั้น ก.ล.ต.ยังส่งสำนวนทั้งหมดที่เพิ่งสอบสวนได้ ไปให้สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินเพื่อพิจารณาดำเนินการด้วย

EARTH เข้าสู่กระบวนการตามกฎหมาย เป็นการกล่าวโทษความผิดที่ครบวงจร ด้วยวงเงินมหาศาล ทิ้งไว้แต่ความเสียหายของผู้เกี่ยวข้อง

พร้อมๆ กับความคาใจยังมีกิจการแบบนี้อีกกี่แห่งแฝงในตลาดหุ้น