posttoday

โค้งสุดท้ายภาษีที่ดินฯ

12 พฤศจิกายน 2561

รอคอยมานานเหลือเกิน และต้องรอถึงโค้งสุดท้ายสำหรับร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง

โดย...ณ กาฬ เลาหะวิไลย

รอคอยมานานเหลือเกิน และต้องรอถึงโค้งสุดท้ายสำหรับร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง

สัปดาห์นี้ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวจะเข้าสู่การประชุมวาระ 2-3 ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)

คงจำกันได้ ช่วงการปฏิวัติใหม่ๆ เมื่อปี 2557 มีการประกาศจะออกกฎหมายหลายฉบับเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม อาทิ กฎหมายมรดก กฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง

เวลาผ่านไป จากการทำงานฉับพลัน ทุกอย่างก็ค่อยๆ เดิน

กฎหมายฉบับแรกที่ออกมาแล้วคือกฎหมายภาษีมรดก

แต่ถึงแม้มีกฎหมายก็เหมือนกับไม่มี

นับตั้งแต่บังคับใช้กฎหมายในปี 2560 รัฐเก็บภาษีมรดกไม่ได้สักสลึง

สาเหตุเนื่องจากกว่าภาษีมรดกจะผ่านกระบวนการทางกฎหมายออกมาได้ ก็ถูกรื้อกระจุย

สุดท้ายก็อย่างที่เห็น ประสิทธิภาพของกฎหมายสะท้อนจากยอดการเก็บภาษี

ในอดีตก่อนหน้านั้นก็เคยมีกฎหมายภาษีมรดก แล้วก็เกิดปัญหาเก็บภาษีไปก็เท่านั้น เงินแทบไม่ได้ ได้ไม่คุ้มกับค่าใช้จ่าย ก็เลยเลิกกันไป แล้วค่อยมาปัดฝุ่นกันอีกครั้งในคราวนี้

ขณะที่ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง กว่าจะผ่านวาระ 1 และเข้าสู่วาระ 2 และ 3 ได้ เรียกว่าทุลักทุเล

แต่ละขั้นตอนมีการแก้ไขเงื่อนปมต่างๆ อีกสารพัดเช่นกัน

ที่สำคัญคือการลดอัตราภาษีที่จัดเก็บ การเพิ่มเพดานลดหย่อนให้กับบ้านและที่ดินที่มีมูลค่าสูงขึ้น

และหากกฎหมายผ่านการพิจารณา ก็โน่น ให้มีผลบังคับใช้ในปี 2563 ไม่ใช่ปีหน้า ที่จะก่อให้เกิดปัญหาโดยเฉพาะเมื่อใกล้จะเลือกตั้งใหญ่

อย่างไรก็ตาม กฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง แม้จะมีการแก้ไขรายละเอียดมากมาย แต่สุดท้ายก็จะดีกว่าภาษีบำรุงท้องที่ และภาษีโรงเรือน ที่ปัญหาและข้อจำกัดมากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก็จะมีบทบาทในกระบวนการจัดเก็บภาษี ลดปัญหาความลักลั่นในการประเมินภาษี โดยใช้มูลค่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเป็นเกณฑ์

การเก็บภาษีก็ยังยึดหลักการใช้ประโยชน์ แบ่งเป็นด้านเกษตรกรรม ด้านที่อยู่อาศัย ด้านประเภทอื่นๆ อาทิ พาณิชยกรรม อุตสาหกรรม รวมถึงที่รกร้างว่างเปล่าไม่มีการใช้ประโยชน์

และที่ฟังแล้วเท่ก็คือ ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเป็นการปฏิรูปโครงสร้างระบบภาษีทรัพย์สินให้มีความทันสมัยและเป็นสากล ตลอดจนกระตุ้นให้เกิดการใช้ประโยชน์ในที่ดิน สร้างความเข้มแข็งและความโปร่งใสในการบริหารการคลังขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

ช่วงสัปดาห์นี้นอกเหนือจากการเฝ้าดูว่ากฎหมายผ่านสภาหรือไม่ โดยถ้าผ่านสิ่งที่จะตามมาคือการเร่งปรับตัวของบรรดาเจ้าของที่ดินที่มีเวลา 1 ปี ให้จัดทรัพย์สินของตัวเองจนสอดคล้องกับกฎหมาย

หรือพูดง่ายๆ กฎหมายยังมีช่องโหว่ เปิดให้จัดแจงที่ดินของตัวเองเสียก่อนจะมีผลบังคับใช้

ไปกันแบบไทยๆ ค่อยๆ ไปกันแบบสมานฉันท์นี่แหละ