posttoday

ชวนคิด

02 พฤศจิกายน 2561

บริบทที่มีผลกระทบต่อการปฏิบัติงานของระบบราชการไทยในปัจจุบัน

โดย..กัปตัน ป.

บริบทที่มีผลกระทบต่อการปฏิบัติงานของระบบราชการไทยในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีที่ปั่นป่วน สภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง ไปในทางที่รุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ โครงสร้างของสังคมที่เปลี่ยนเป็นสังคมผู้สูงวัย รวมทั้งความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างประเทศในทางเศรษฐกิจ การค้า และเทคโนโลยี

บริบทที่เปลี่ยนไปเหล่านี้บังคับว่าต้องมาทบทวนกันอย่างจริงจังเสียทีว่า จะทำอย่างไรเพื่อให้ระบบราชการไทยมีความยืดหยุ่น สามารถปรับเปลี่ยนโครงสร้างและวิธีการทำงานให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงได้ทันเหตุการณ์เหมือนประเทศอื่นๆ เขาบ้าง

ปัจจุบันเรามีกฎหมายว่าด้วยการปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม ที่กำหนดว่าประเทศเรามีกระทรวงอะไรบ้าง ทบวงอะไรบ้าง (ซึ่งตอนนี้ไม่มี) และในแต่ละกระทรวง (ทบวง) มีกรมอะไรบ้าง อันเป็นการแบ่งตามหน้าที่ หน้าที่ใครหน้าที่มัน หลักก็คือแบ่งหน้าที่กันทำ จะได้ไม่ซ้ำซ้อนกัน

การทำงานจึงเป็นไปเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์และเป้าหมายที่แต่ละแท่งกำหนด ยากที่จะบูรณาการการทำงานเข้ากับแท่งอื่นตามประเด็นการพัฒนาได้ แม้การบูรณาการภายในแท่งเองก็ยังยาก เช่น คนทำถนนก็ทำถนนไม่ได้คิดถึงเรื่องทิศทางการพัฒนาพื้นที่ ไม่ได้คิดเรื่องสิ่งแวดล้อม น้ำยังไม่ตามไป ไฟก็ยังไม่เข้า สัญญาณอินเทอร์เน็ตไม่ถึง เป็นต้น

นอกจากนี้ การที่กฎหมายแต่ละฉบับกำหนดไว้ชัดเจนว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงใดเป็นผู้รักษาการตามกฎหมายก็ยิ่งเป็นการ “เสริมใยเหล็ก” ให้กับ “โครงสร้างแบบแท่ง” ของส่วนราชการเข้าไปอีก

เพราะเมื่อกฎหมายกำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงใดเป็นผู้รักษาการตามกฎหมายใดแล้ว ความรับผิดชอบในการปฏิบัติให้กฎหมายบรรลุผลก็จะตกแก่รัฐมนตรีผู้รักษาการตามที่ระบุไว้ในกฎหมายผู้เดียว กระทรวงอื่น กรมอื่น ก็จะไม่เข้ามาก้าวก่ายการทำงานของรัฐมนตรีผู้รักษาการ

การปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยการปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม เป็นเรื่องสำคัญในยุคปฏิรูป โดยกฎหมายดังกล่าวควรกำหนดว่า “ภารกิจ” ของส่วนราชการมีภารกิจใดบ้าง แทนที่จะกำหนดว่าเรามีกี่กระทรวง กระทรวงอะไรบ้าง ส่วนการกำหนดว่าภารกิจใดและกฎหมายใดบรรดาที่เกี่ยวข้องกับภารกิจนั้นจะอยู่ในความรับผิดชอบของรัฐมนตรีท่านใด ให้เป็นเรื่องที่นายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้ารัฐบาลมีคำสั่งกำหนด

ซึ่งก็จะช่วยทำให้การบูรณาการ “เนื้องาน” ที่อยู่ในความรับผิดชอบของรัฐมนตรีแต่ละท่านตาม Agenda มีประสิทธิภาพมากขึ้น ไม่ต้องรอแก้กฎหมายเป็นรายฉบับซึ่งยากเย็นมาก เรียกว่ากว่าถั่วจะสุกงาก็ไหม้เสียแล้ว

นอกจากนี้ การที่กระทรวงจะมีกรมอะไรบ้าง และในกรมจะมีกี่กอง ควรให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง เพื่อให้ฝ่ายบริหารสามารถบริหารจัดการทรัพยากร “ที่มีอยู่” ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดได้อย่างยืดหยุ่น ไม่แข็งตัวอย่างเช่นที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

และเมื่อเป็นเช่นนี้ กฎหมายแต่ละฉบับจึงไม่ต้องกำหนดตายตัวเหมือนเดิมว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงใดเป็นผู้รักษาการ เพียงระบุให้มีรัฐมนตรีผู้รับผิดชอบเป็นผู้รักษาการเท่านั้น ซึ่งก็เป็นไปตามที่นายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้ารัฐบาลกำหนดดังกล่าวข้างต้น

การปรับโครงสร้างระบบราชการตามแนวทางที่ว่านี้ น่าจะทำให้ “การจัด” ระบบราชการมีความยืดหยุ่นมากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน และสามารถตอบสนองต่อบริบทต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากกว่าที่เป็นอยู่

จะว่าไป วิธีนี้ไม่ใช่วิธีใหม่แต่อย่างใด หลายประเทศเขานำมาใช้ตั้งแต่ยุค 1990s แล้ว