posttoday

โลกยุคสุดท้าย

01 พฤศจิกายน 2561

โลกที่ร้อนขึ้นจะส่งผลกระทบตามมาอีกมากมาย

โดย...มะกะโรนี

หลังจากคณะกรรมการของสหประชาชาติด้านความร่วมมือระหว่างรัฐบาลเกี่ยวกับความเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก หรือ IPCC ออกมาเตือนว่า ใน พ.ศ. 2573 หรืออีกเพียง 12 ปีข้างหน้า อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกอาจสูงขึ้น 1.5 องศาเซลเซียส เพิ่มจากปัจจุบันที่อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเพิ่มเพียง 1 องศาเซลเซียส โลกที่ร้อนขึ้นจะส่งผลกระทบตามมาอีกมากมาย ตั้งแต่ระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น คลื่นความร้อน ปัญหาภัยแล้ง และฝนที่ตกหนักมากผิดปกติ

ความห่วงใยของ IPCC ยังระบุด้วยว่า แนวปะการัง รวมทั้งแนวปะการังยักษ์ Great Barrier Reef ของออสเตรเลีย ก็จะได้รับผลกระทบอย่างหนัก โดยคาดว่าปะการังของโลกจะตายลง 70-90% ข้อน่าวิตกที่ตามมาก็คือ แนวปะการังเป็นแหล่งอนุบาลตัวอ่อน แหล่งที่อยู่อาศัย แหล่งหลบภัย แหล่งอาหาร แหล่งวางไข่ แหล่งผสมพันธุ์ และที่อยู่อาศัยของพืชและสัตว์ทะเลนานาชนิด เปรียบเสมือนป่าดงดิบของท้องทะเล

ในเวลาต่อมา องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF) ออกมาบอกว่า สรรพประชากรสัตว์ทั่วโลกกำลังตกอยู่ในอาการน่าเป็นห่วง ทั้งสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม นก ปลา สัตว์เลื้อยคลาน และสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ ทั่วโลกกว่า 4,000 สายพันธุ์ลดลงอย่างรวดเร็วระหว่างปี 1970-2014 หรือลดลงถึง 60% ในช่วง 4 ทศวรรษที่ผ่านมา โดยมีสาเหตุหลักจากการปล่อยมลพิษ การตัดไม้ทำลายป่า การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และปัจจัยที่เกิดจากน้ำมือมนุษย์

ทั้งนี้ ยังระบุด้วยว่า นับตั้งแต่มนุษย์เริ่มเข้ามากุมชะตาประวัติศาสตร์โลก อัตราที่สัตว์เสี่ยงสูญพันธุ์ได้เพิ่มสูงขึ้นกว่า 1,000 เท่า และคาดว่าสัดส่วนของพื้นที่ธรรมชาติที่ปราศจากกิจกรรมของมนุษย์จะลดลงกว่า 4 ใน 10 ภายใน ค.ศ. 2050

รายงานดังกล่าวยังระบุอีกว่า ปัจจุบันจะพบพลาสติกในท้องของนกทะเลถึง 90% เมื่อเทียบกับปี 1960 ที่พบเพียง 5% ในขณะที่ประมาณครึ่งหนึ่งของปะการังน้ำตื้นของโลกได้สูญหายไปในช่วง 3 ทศวรรษที่ผ่านมา ซึ่งจำนวนสัตว์ที่ลดลงรวดเร็วที่สุด คือในเขตร้อนของลาตินอเมริกา และแคริเบียนที่ลดลงกว่า 89% โดยสายพันธุ์สัตว์ในแหล่งน้ำจืด เช่น กบ และปลาแม่น้ำ ลดลงถึง 83%

ก่อนหน้านี้ได้มีการจัดทำบัญชีชนิดพันธุ์ที่ถูกคุกคามขององค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ หรือที่รู้จักกันในชื่อ The IUCN Red List of Threatened Species (IUCN Red List) ระบุว่า มี 10 ชนิด ซึ่งถือได้ว่าอยู่ในระดับวิกฤตขั้นรุนแรง

ประกอบด้วย เสือดาวอามูร์ สัตว์พื้นเมืองในเอเชียเหนือมีเหลือไม่เกิน 60 ตัว แรดดำแอฟริกา พบในประเทศเคนยา แทนซาเนีย แอฟริกาใต้ แคเมอรูน นามิเบีย และซิมบับเว เหลือเพียงราวๆ 1,000 ตัว กอริลลา เหลืออยู่ราว 200-300 ตัวเท่านั้น อาศัยอยู่ตามพรมแดนตอนใต้ของแคเมอรูน-ไนจีเรีย เต่ากระ หรือ เต่าปากเหยี่ยว พบกระจายในเขตอบอุ่นในมหาสมุทรทั่วโลก แรดชวา เป็นแรดพันธุ์ใกล้สูญพันธุ์ที่สุดในโลก ปัจจุบันทั้งโลกเหลือเพียงไม่เกิน 35 ตัว กอริลลาภูเขา เหลืออยู่ราว 880 ตัว ซาวลา สัตว์ชอบอยู่ตามภูเขาสูงจำนวนยังไม่สามารถประเมินได้ พบซาวลาครั้งสุดท้ายใน พ.ศ. 2542 จากกล้องกับดัก แรดสุมาตรา ปัจจุบันเหลือน้อยกว่า 250 ตัวทั่วโลก โลมายากีต้า พบในอ่าวแคลิฟอร์เนีย เหลือไม่ถึง 100 ตัว และสุดท้าย ตัวนิ่ม หรือ ตัวลิ่น พบในทวีปแอฟริกาและเอเชีย ใกล้สูญพันธุ์

โลกกำลังเดินทางมาถึงยุคสุดท้ายอย่างที่วิตกกันหรือไม่ คำตอบอยู่ที่พวกเราทุกคน พวกเราทั้งโลก