posttoday

“การสอนพิเศษ” ในเมียนมา

24 ตุลาคม 2561

โดย ... มรกตวงศ์ ภูมิพลับ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

โดย ... มรกตวงศ์ ภูมิพลับ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

การเรียนพิเศษเป็นที่นิยมในหมู่นักเรียนนักศึกษาพม่าเช่นเดียวกับเมืองไทย ธุรกิจโรงเรียนสอนพิเศษที่เฟื่องฟู ซึ่งถ้าคิดถึงภูมิหลังประวัติศาสตร์นี่คือตลกร้าย เพราะเมียนมาเคยมีระบบการศึกษาที่แข็งที่สุดแห่งหนึ่งในภูมิภาคด้วยอังกฤษวางรากฐานเอาไว้ก่อนจะสะดุดลงภายใต้รัฐบาลทหารที่ครองอำนาจยาวนาน

ในอดีต การสอนพิเศษได้รับความนิยมมากในวิชาภาษาอังกฤษ ผู้ว่าจ้างคือบุตรหลาน ข้าราชการและผู้มีฐานะ พม่าเรียกการเรียนพิเศษด้วยคำว่า Kyu shin หมายถึง การเรียนเสริมวิชาที่มีในหลักสูตรปรกติ เช่น คณิตศาสตร์ ภาษาอังกฤษ วิทยาศาสตร์ อีกคำหนึ่งคือ Thin tan หมายถึงการเรียนวิชาที่ไม่มีในหลักสูตรธรรมดา เช่น คอมพิวเตอร์ ภาษาต่างประเทศ ทักษะวิชาชีพ

ในเมียนมา Thin tan ได้รับความนิยมมากกว่า Kyu shin ด้วยคนส่วนมากต้องการเพิ่มทักษะในการทำงาน

ย่านกวดวิชาที่คึกคักและดังที่สุดตอนนี้คือ ย่าน Hledan ติดถนน U Tun Lin Chan ใกล้มหาวิทยาลัยย่างกุ้ง แถบนี้มีสถาบันกวดวิชาอยู่ในตึกแถวหลายหลายสิบแห่งคล้ายสยามสแควร์ในทศวรรษที่ 2540 ทว่าโรงเรียนกวดวิชาในพม่าตอนนี้เรียกได้ว่าเป็นขาขึ้น

แต่เดิมโรงเรียนเหล่านี้มีลูกค้าหลักเป็นคนท้องถิ่น วิชายอดนิยมคือ การตลาด บัญชี ภาษาอังกฤษ จีน เกาหลี ญี่ปุ่น ปัจจุบันมีเปิดสอนภาษาพม่าให้ชาวต่างชาติที่มาอาศัยในพม่ามากขึ้น มีหลักสูตรทำขนมและงานฝีมือ ที่น่าสนใจคือโรงเรียนเหล่านี้ดึงอาจารย์มาจากสายสัมพันธ์ส่วนตัวมากกว่าจ้างในฐานะลูกจ้างประจำ

ในพม่า ที่ธุรกิจนี้เฟื่องฟูมาจากปัญหาเดียวกันกับไทยคือหลักสูตรในระบบไม่ตอบโจทย์กับชีวิตจริง ผู้เรียนรู้สึกว่าเรียนพิเศษเข้าใจมากกว่าแม้จะมีเสียงวิจารณ์ว่าการเรียนพิเศษเป็นการเพิ่มภาระให้กับผู้ปกครองและผู้เรียน ส่วนราคาค่าเรียนขึ้นกับจำนวนผู้เรียน ถ้าราคาถูกผู้เรียนอาจมากกว่าห้องละ 50 คน บางโรงเรียนทำคอร์สบุฟเฟต์คือจ่ายเหมาแล้วเลือกวิชาได้ตามใจชอบ

คอร์สที่ถูกที่สุดอยู่ที่15,000-20,000 จั๊ด (320-416 บาท) เรียน 12-18 ชั่วโมง สัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง ครั้งละ 1.5 ชั่วโมง ถ้าคิดเป็นรายวิชาราคาอยู่ที่เดือนละประมาณ 60,000 จั๊ด (1,250 บาท) การกวดวิชายังเน้นแข่งราคามากกว่าเทคนิคการสอน ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นนักศึกษา

บัณฑิตจบใหม่หรือผู้ที่อยู่ระหว่างเปลี่ยนงาน ทำงาน สำหรับนักเรียนมัธยมครอบครัวมักจะจ้างไปสอนส่วนตัวที่บ้านส่วนใหญ่เป็นครอบครัวที่ค่อนข้างมีฐานะ การเรียนคิดเป็นรายวิชาละ 60,000 จั๊ด (ประมาณ 1,250 บาท) ต่อเดือน ปัจจุบันยังเริ่มมีนายหน้าหาติวเตอร์ออนไลน์อีกด้วย

อาจารย์ดวงตา หม่องภา แห่งสถาบันสอนภาษา Brain Point ที่เปิดสอนภาษาไทยในย่านเลดานมาปีครึ่งเล่าว่าตลาดวิชาภาษาไทยยังไม่โตมากนัก ย่านเลดานมีโรงเรียนสอนภาษาไทย 5 แห่ง 4 แห่งผู้สอนเป็นพม่า ผู้เรียนส่วนใหญ่อายุ 18-27 ปี สอนห้องละไม่เกิน 10 คน ราคาเฉลี่ยคอร์สละ 32 ชั่วโมง ราคา 150,000 จ๊าต (3,125 บาท)

ภาษาไทยที่นี่สอนสองระดับ คือ พื้นฐาน (ฟัง พูด อ่าน เขียน) กลาง (เน้นพูด) ผู้เรียนส่วนใหญ่มาเรียนเนื่องจากทำงานให้บริษัทไทยหรือนำไปใช้ศึกษาต่อ ที่น่าสนใจคือ มีผู้เรียนที่มีพื้นฐานและต้องการต่อยอดเพื่อทำงานในระดับที่สูงขึ้นซึ่งมีจำนวนไม่มากเมื่อเทียบกับกลุ่มแรก ตอนนี้ยังมีชาวต่างชาติที่ต้องการเรียนภาษาพม่าจำนวนมาก จนทำให้เธอเริ่มเปิดสอนภาษาพม่าให้คนต่างชาติอีกด้วย จากการที่คลุกคลีในวงการนี้ เธอมองว่า ธุรกิจสอนพิเศษในเมียนมาจะเติบโตได้อีกในอนาคต

ขอขอบคุณ Brain Point หากสนใจเรียนภาษาพม่าในย่างกุ้งติดต่อได้ที่ https://www.facebook.com/brainpointlanguage/

ภาพ: เลดาน ย่านโรงเรียนสอนพิเศษของเมืองย่างกุ้ง

เครดิตภาพ: สุเจน กรรพฤทธิ์