posttoday

คุ้มหรือไม่คุ้ม

01 ตุลาคม 2561

เผยผลสรุป 4 ปีขึ้นเงินเดือนข้าราชการในยุคคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

โดย...ทองพระราม 

กลายเป็นเรื่องให้น่าขบคิดทบทวนหลังจากโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือไอลอว์ ได้เปิดเผยผลสรุป 4 ปี การขึ้นเงินเดือนข้าราชการในยุคคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

ที่ผ่านมาได้มีการออกกฎหมายเพิ่มรายได้ให้บรรดาข้าราชการอย่างน้อย 10 ฉบับ ครอบคลุมข้าราชการหลายสาขา เช่น ตำรวจ ทหาร ครู ข้าราชการพลเรือน

โดยเฉพาะการออกกฎหมายขึ้นเงินเดือนให้องค์กรอิสระ ศาลรัฐธรรมนูญ และอัยการ ซึ่งไอลอว์ให้เหตุผลไว้อย่างน่าสนใจอย่างมากตรงที่ ถ้าดูจากมติคณะรัฐมนตรี (ครม.)

จะเห็นได้ว่ายังมีการเลื่อนขั้นพิเศษ โดยเฉพาะให้ผู้ปฏิบัติหน้าที่รักษาความปลอดภัยหรือไปช่วยงานของ ครม. จึงมองการขึ้นเงินเดือนยังมีข้อกังวลถึงผลประโยชน์ทับซ้อน

เนื่องจากระบบราชการเป็นกลไกหลักที่ คสช.ใช้ในการสนองตอบนโยบายมาตลอด 4 ปี อีกทั้งการขึ้นเงินเดือนทำให้งบประมาณด้านบุคลากรภาครัฐสูงขึ้นจากปี 2557 ถึง 4 แสนล้านบาท

แต่ผลการจัดอันดับประสิทธิภาพของรัฐบาลและความโปร่งใสกลับไม่ได้ดีขึ้นแต่อย่างใด การขึ้นเงินเดือนข้าราชการในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา ทำให้ภาระงบประมาณสูงขึ้นกว่า 4 แสนล้านบาท

อย่างงบประมาณปี 2562 งบบุคลากรภาครัฐอยู่ที่ประมาณ 1 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 1 ใน 3 ของงบประมาณทั้งหมด แต่จากการประเมินของธนาคารโลกพบว่าประสิทธิภาพการทำงานของรัฐเปลี่ยนแปลงในทางบวกน้อยมาก พร้อมๆ กับความโปร่งใสของภาครัฐที่ต่ำลงจากช่วงก่อนรัฐประหาร

แม้จะเป็นที่รู้กันดีว่าเงินเดือนข้าราชการ เรียกได้ว่าเบี้ยน้อยหอยสังข์ การปรับขึ้นจึงไม่แปลกเพื่อผลการทำงาน สอดรับกับค่าครองชีพความเป็นอยู่ในสังคมปัจจุบันที่สูงขึ้น เพื่อให้เหล่าข้าราชการยกระดับตัวเองขึ้นมา จะได้ไม่ต้องไปเป็นหนี้นอกระบบ อันเกิดจากเงินไม่พอใช้แบบเดือนชนเดือน หรือไม่ก็นำเงินอนาคตออกมาใช้เลี้ยงปากท้องครอบครัว

ขณะที่ตัวเลขที่ทางไอลอว์ได้สรุปออกมา หากมองกันตามตรงการขึ้นเงินนั้นทำให้ภาระงบประมาณสูงขึ้นตาม ก็นับว่าเป็นเรื่องปกติอีกเช่นกันสำหรับการขึ้นเงินเดือน

ทว่า ที่น่าสนใจอย่างยิ่งยวดคงเป็นการประเมินของธนาคารโลก ซึ่งได้สะท้อนออกมาไว้อย่างน่าตกใจ เพราะผลตามมาไม่ได้กระเตื้องอย่างที่หลายฝ่ายตั้งใจไว้

โดยเฉพาะประสิทธิภาพกับเงินที่ได้ลงทุนไป แน่นอนว่าคำถามคือ “คุ้มค่ามากน้อยเพียงใด” เพราะเรื่องเงินๆ ทองๆ สำหรับประชาชนผู้เสียภาษี ย่อมซีเรียสและเครียดตาม

เนื่องด้วยเม็ดเงินที่รัฐบาลดำเนินการไปก็ต้องบอกว่าไม่ใช่น้อยๆ และเมื่อผลที่ออกมาจากหน่วยงานเชื่อถือได้ ก็เชื่อว่าทำให้ประชาชนทั้งประเทศในฐานะผู้จ่ายภาษีต้องกุมขมับ

จะเป็นจริงหรือไม่ประการใด ผู้ตอบคำถามนี้ได้ดีคงเลี่ยงไม่พ้นรัฐบาล ในฐานะผู้ผลักดันประเด็นดังกล่าวจนคลอดออกมาเป็นกฎหมายให้มีผลบังคับใช้ ซึ่งการขึ้นเงินเดือนเชื่อว่าประชาชนไม่ได้คัดค้าน

แต่ประสิทธิภาพกับเงินที่ได้เสียไปต่างหาก จะเป็นประเด็นให้หลายฝ่ายติดใจ หากรู้แล้วว่ายังไม่คุ้มก็ปรับค่าทำงานให้สอดรับเพื่อไม่ให้เจ้าของภาษีคือ ประชาชนต้องมาเสียความรู้สึกภายหลัง หากไม่เป็นดังหวังไว้อย่างที่ใจปรารถนา