posttoday

จับชาวนาไปเป็นปุ๋ย

28 กันยายน 2561

ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือ CPTPP อาจเป็นข้อตกลงหน้าฉาก เพื่อให้ถลำเข้าไปในหลุมพรางผลประโยชน์

โดย..ณ กาฬ เลาหะวิไลย

ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือ CPTPP ที่กำลังศึกษาผลดี ผลเสียในการเข้าร่วม อาจเป็นข้อตกลงหน้าฉาก เพื่อให้ถลำเข้าไปในหลุมพรางผลประโยชน์ของชาติตะวันตกที่แฝงไว้มหาศาล

ที่กล่าวเช่นนี้ก็เนื่องจาก การเข้าร่วมข้อตกลงทางการค้านี้ได้ ก่อนอื่นต้องไปสมัครเป็นสมาชิกอนุสัญญาการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ หรือ UPOV (International Union for the Protection of New Varieties of Plants) เสียก่อน

อนุสัญญาฯ ที่ว่า จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อการผลิตพันธุ์พืชของไทย ต่อเกษตรกรไทย ต่อการวิจัยพันธุ์ในอนาคต เพราะเป็นการผูกขาดการขายเมล็ดพันธุ์

ที่ผ่านมาไทยเคยถูกกดดันจากชาติต่างๆ โดยเฉพาะพวกมหาอำนาจทางเศรษฐกิจชาติตะวันตก ให้เข้าร่วมอนุสัญญาพันธุ์พืชใหม่มาหลายครั้ง เนื่องจากประเทศพัฒนาเหล่านี้เป็นผู้ได้เปรียบ

จักรกฤษณ์ ควรพจน์ ผู้อำนวยการวิจัยฝ่ายกฎหมายเศรษฐกิจ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เคยเขียนบทความในเรื่องดังกล่าวเอาไว้อย่างน่าคิด

เริ่มจากข้อตกลงอนุสัญญาพันธุ์พืชใหม่ ที่แก้ไขล่าสุดจะให้สิทธิของนักปรับปรุงพันธุ์ที่กว้างกว่าเก่า โดยเดิมทีให้สิทธิเฉพาะที่เกี่ยวกับส่วนขยายพันธุ์ เช่น เมล็ด หน่อ หัว ฯลฯ แต่ก็มีการเพิ่มให้สิทธิครอบคลุมถึงผลผลิตทางการเกษตรที่ใช้สำหรับบริโภค

บทบัญญัติเช่นนี้จึงมีความเสี่ยงต่อความมั่นคงทางอาหาร

และหากมีนักวิจัยรายอื่น นำเอาพันธุ์พืชคุ้มครองไปปรับปรุง แต่ถ้าพิสูจน์ไม่ได้ว่าแตกต่างอย่างมีความสำคัญจากพันธุ์เดิมตรงไหน พันธุ์ที่ปรับปรุงขึ้นนั้น ก็จะตกเป็นสิทธิของผู้ทรงสิทธิเดิม

การกำหนดเช่นนี้ทำให้นักวิจัยหรือนักปรับปรุงพันธุ์รายย่อยซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนไทยหรือกิจการไทยเสียเปรียบ มีแต่บรรษัทเมล็ดพันธุ์ขนาดใหญ่ข้ามชาติที่จะได้ประโยชน์

เมล็ดพันธุ์ทั้งหมด ยังให้สิทธิเฉพาะเจ้าของในการขายแต่เพียงผู้เดียว ส่วนการเก็บทำพันธุ์ก็ต้องมีการประกาศเป็นข้อยกเว้น

ทั้งหมดจะส่งผลกระทบต่อเกษตรกรในประเทศ ที่เป็นรายย่อย ที่การเก็บรักษา แลกเปลี่ยนเมล็ดพันธุ์ เป็นสิ่งที่ถือปฏิบัติมาตั้งแต่อดีต

หากดูให้ดีประเทศสมาชิกของอนุสัญญาพันธุ์พืชใหม่ ส่วนใหญ่เป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว มีฐานการปรับปรุงในระดับอุตสาหกรรม ขณะที่ประเทศอื่นๆ เช่น ประเทศกำลังพัฒนามีศักยภาพจำกัด หรือหากจะมีอยู่บ้างก็เป็นการปรับปรุงพันธุ์ที่อาศัยการลงทุนของภาครัฐ

การแก้ไขกฎหมาย หรือยอมรับอนุสัญญาพันธุ์พืชใหม่ จึงมีความสุ่มเสี่ยงก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบเกษตรกรรม และความมั่นคงทางอาหารของประเทศ

นี่แหละ คือข้อสรุปคร่าวๆ ของนักวิจัยจากทีดีอาร์ไอ

ดังนั้น การเข้าร่วมข้อตกลงการค้า CPTPP โดยแลกกับยอมตามอนุสัญญาพันธุ์พืชใหม่ ไม่ต่างจากจับเอาเกษตรกรรายย่อย ชาวนาไปเป็นปุ๋ย เพื่อบำรุงให้เครือข่ายการค้า การลงทุนของธุรกิจขนาดใหญ่ชูช่อเบ่งบาน

ปลาใหญ่ยังคงกินปลาเล็ก ความเหลื่อมล้ำก็จะยิ่งถ่างมากขึ้น

จะเอากันอย่างนั้นหรือ