posttoday

มรณกรรมเกษตรไทย

27 กันยายน 2561

ผลกระทบต่อการผลิตพันธุ์พืชของไทย ต่อเกษตรกรไทย ต่อการวิจัยพันธุ์ในอนาคต

โดย..ณ กาฬ เลาหะวิไลย

ข้อตกลงระหว่างประเทศ ที่มีเงื่อนงำซ่อนอยู่ และต้องจับตากันใกล้ชิด ก็คือ ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือ CPTPP ที่กำลังอยู่ในช่วงหาข้อมูลผลดี ผลเสีย

ประเด็นที่น่าพิจารณาให้มาก ก็คือ เงื่อนไขการสมัครเข้าร่วมข้อตกลงเศรษฐกิจนี้ กำหนดว่าต้องไปสมัครเป็นสมาชิกอนุสัญญาการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ หรือ UPOV (International Union for the Protection of New Varieties of Plants) เสียก่อน

แต่อนุสัญญาฯ ที่ว่าจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อการผลิตพันธุ์พืชของไทย ต่อเกษตรกรไทย ต่อการวิจัยพันธุ์ในอนาคต

เนื้อหาสำคัญของอนุสัญญาคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ ก็คือ การให้ความคุ้มครองพันธุ์พืชที่มีการปรับปรุง โดยจะเกิดจากนักวิจัยพันธุ์ หรือบริษัทที่ไปว่าจ้างให้วิจัยก็ได้

เมื่อได้พันธุ์ใหม่ และผ่านกระบวนการรับรองสิทธิ ใครจะปลูกก็ต้องมาซื้อกับเจ้าของ เมื่อปลูกแล้ว จะขยายพันธุ์เอาไปขายคนอื่นต่อไม่ได้อย่างเด็ดขาด

จริงอยู่ แม้ในไทยจะมีบริษัทที่มีความสามารถในการขยายพันธุ์พืชใหม่ๆ แต่ทว่ายังมีจำนวนน้อยเกินไป เมื่อเทียบกับต่างชาติที่มีบริษัทเช่นนี้อยู่อย่างมากมาย

ไม่ต้องนับถึงธุรกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม หรือเกษตรกร คงหมดปัญญาในการใช้ประโยชน์จากอนุสัญญาคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่

นั่นหมายความว่า ต่างชาติจะเข้ามาผูกขาดในธุรกิจพันธุ์พืช

เนื้อหาในอนุสัญญาคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ ยังเปิดช่องให้เจ้าของพันธุ์พืช ผู้ปรุงพันธุ์พืชไม่จําเป็นต้องเปิดเผยแหล่งที่มาของพันธุ์ ไม่ต้องระบุถึงเชื้อพันธุ์ว่าได้มาอย่างถูกหรือผิดกฎหมาย

เท่ากับว่า จะเกิดการบุกรุกป่า ลักขโมยพันธุ์พืชในป่า พันธุ์พืชพื้นเมือง แล้วมาจดเป็นพันธุ์พืชใหม่ หรือนำพันธุ์พืชเหล่านี้ไปปรับปรุงเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ก็กลายเป็นพันธุ์ใหม่

แล้วอย่างนี้มันจะไปเหลือเหรอ

อนุสัญญาฯ ที่ว่ายังมีการปรับปรุงเนื้อหาเป็นระยะ อาทิ เดิมระยะเวลาของการคุ้มครองสิทธิพันธุ์พืช กำหนดไว้ 15 ปี สําหรับพืชทั่วไป ส่วนไม้ต้น และองุ่น คุ้มครอง 18 ปี ต่อมาก็เพิ่มการคุ้มครองเป็น 20 ปี สําหรับพืชทั่วไป และ 25 ปี สําหรับไม้ต้น และองุ่น

นอกจากนั้น ใครเข้าไปเป็นสมาชิกใหม่ ต้องให้ความคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่อย่างน้อย 15 ชนิด และเพิ่มเป็นคุ้มครองพันธุ์พืชทุกชนิดภายในเวลา 10 ปี จากเดิมที่สมาชิกใหม่ต้องให้ความคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่เพียง 5 ชนิด และเพิ่มเป็น 24 ชนิด ในเวลา 8 ปี

หรืออธิบายง่ายๆ ใครสมัครเข้าไป ภายใน 10 ปี ต้องคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ทุกชนิดที่มีการจดทะเบียน

เงื่อนไขประเภทที่ว่า และเงื่อนไขอื่นๆ อีกมากมาย จึงกลายเป็นช่องทางให้เกิดการยึดครองพันธุ์พืช ภายใต้เงื่อนไขว่าเป็นพันธุ์พืชใหม่

ศักยภาพของไทย ก็คือ การเกษตร แต่กระบวนการปรับปรุงเทคโนโลยี พันธุ์ ทุน ในการก้าวข้ามการผลิตแบบเดิม เข้าสู่กระบวนการพัฒนาพันธุ์พืชใหม่ ยังห่างไกลชาติตะวันตกอีกมากโข

อนุสัญญาฯ นี้ทำท่าจะเป็นจุดเริ่มต้นมรณกรรมเกษตรไทย