posttoday

หาเสียงไม่ได้

26 กันยายน 2561

กรณีที่ คสช.ออกมา “ล่ามโซ่” พรรคการเมือง ห้ามใช้เครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์หาเสียงในช่วงนี้

โดย...สลาตัน

แม้ว่าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะยังไม่ปลดล็อกให้พรรคการเมืองดำเนินกิจกรรมทางการเมืองได้อย่างเต็มที่ แต่กับการปลดเงื่อนไขบางประการ เช่น ให้พรรคการเมืองดำเนินกิจกรรมทางการเมืองในบางกรณีได้ ก็เป็นการส่งสัญญาณการเลือกตั้งกำลังมีความชัดเจนขึ้น

เพราะนับตั้งแต่ราชกิจจานุเบกษาประกาศเรื่อง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง สว.และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง สส. มีผลบังคับใช้ กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ทยอยออกระเบียบทั้งการแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่ รวมไปถึงการออกระเบียบการเปิดรับสมัครเลือกวุฒิสมาชิก (สว.) จำนวน 10 กลุ่ม

อีกอย่างเมื่อไปดูความเคลื่อนไหวพรรคการเมืองต่างๆ ออกมากางปฏิทินนัดหมาย ไม่ว่าจะเป็นกำหนดจัดประชุมพรรค แก้ไขข้อบังคับพรรค ไปถึงการเลือกหัวหน้าพรรคการเมืองคนใหม่

เริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 17 ก.ย.ที่ผ่านมา พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ประชุมกรรมการบริหาร หวังเตรียมแก้ไขข้อบังคับของพรรค รวมถึงแนวการเฟ้นหาหัวหน้าพรรค ปชป.คนใหม่

ขณะที่ พรรคเพื่อไทย เมื่อวันที่ 20 ก.ย. เริ่มวอร์มประชุมรักษาการกรรมการบริหารพรรค และเลือกกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ แถมมีเสียงลือเสียงเล่าอ้างอีกว่า กะเก็งว่าที่หัวหน้าพรรคคนใหม่กันไว้ล่วงหน้า

บางกระแส บอกว่า “หญิงหน่อย” หรือคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธ์ุ จะนอนมา แต่หารู้ไม่กลับมีใบสั่งล่าสุดจากแดนไกล วางตัว “สมชาย วงศ์สวัสดิ์” ให้มานั่งหัวโต๊ะเพื่อไทยซะงั้น

ส่วนพรรคขนาดกลางอย่างพรรคภูมิใจไทย มีการประชุมกรรมการบริหาร แก้ไขข้อบังคับของพรรค เมื่อวันที่ 24 ก.ย.ที่ผ่านมา ถือเป็นกิจกรรมสีสันการเมืองที่กำลังเริ่มต้น ภาพแบบนี้คนไทยไม่ได้เห็นมานานหลายปี

แต่ไฮไลต์สำคัญคือวันที่ 28 ก.ย.นี้นั้น ทุกพรรคการเมืองจะต้องเข้าประชุมร่วมกับ กกต. และรัฐบาล คสช.วางกรอบแนวทางการทำกิจกรรมให้ถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนดไว้

แต่อีกประเด็นที่ดูจะยังเถียงกันไม่จบ กรณีที่ คสช.ออกมา “ล่ามโซ่” พรรคการเมือง ห้ามใช้เครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์หาเสียงในช่วงนี้

นักการเมืองก็ปวดเฮดต่อคำสั่ง คสช.อยู่ไม่น้อย ทั้งๆ ที่มี พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ เป็นเครื่องมือในการดำเนินการกับผู้กระทำความผิดได้อยู่แล้ว แต่ คสช.ก็บอกว่า เดี๋ยวรอพ.ร.ฎ.กำหนดวันเลือกตั้งประกาศก่อนถึงจะปล่อยฟรีทุกการสื่อสาร

นี่จึงเป็นเรื่องมองต่างมุมกันอยู่ ทั้งรัฐในฐานะควบคุมสถานการณ์ความสงบเรียบร้อย ทั้ง กกต.เสมือนกรรมการในสนาม ทั้งผู้เล่นก็คือผู้สมัครเลือกตั้ง สส.ก็หวั่นๆ จะถูกจับผิด

ยิ่งตอนนี้บรรดาผู้เล่นต่างก็มีความจำเป็นต้องใช้เครื่องมือสื่อสารพูดคุยกันนัดหมายประชุม กำหนดการแก้ไขข้อบังคับพรรค หรือการเลือกหัวหน้าผ่านแอพลิเคชั่น จะโดนลากเข้าไปในกับดัก คสช.ว่าใช้เครื่องมือสื่อสารหาเสียงได้หรือเปล่า

อีกด้านหลายฝ่ายต่างรู้ดีว่าฐานเสียงในโลกออนไลน์ โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่มีอยู่จำนวนไม่น้อย ข้อมูลข่าวสารนโยบายต่างๆ ที่พรรคการเมืองต้องการหาเสียงช่องทางออนไลน์ถือว่าวัดผลได้ไม่เลวทีเดียว

เห็นชัดว่าทุกวันนี้มนุษย์ใช้ชีวิตอยู่ในโลกเสมือนกันมากกว่าชีวิตจริง ช่องทางนี้หากพรรคใดตีได้สำเร็จ เชื่อคงกอบโกยคะแนนเสียงไปได้อีกไม่น้อย

ด้วยเหตุนี้ คสช.และรัฐบาล ยังขึงลวดหนามการสื่อสารทางอิเล็กทรอนิกส์ปิดหูปิดตาพรรคการเมือง