posttoday

'หมอรู้จักคุณ' 4.0

23 กันยายน 2561

โดย..สลาตัน

โดย..สลาตัน

ทราบว่ากระทรวงสาธารณสุขได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์ชาติด้านสาธารณสุขระยะ 20 ปี ตามนโยบายรัฐบาลที่จะนำประเทศไทยก้าวสู่ Thailand 4.0 รองรับอนาคตที่มีความเป็นสังคมเมือง สังคมผู้สูงอายุซึ่งในปี 2573 ไทยจะมีผู้สูงอายุถึง 1 ใน 4 ของประชากรทั้งหมด การเชื่อมต่อการค้าและการลงทุน ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี และลดความเหลื่อมล้ำการเข้าถึงระบบสุขภาพ ตั้งเป้าหมายให้ “ประชาชนสุขภาพดี เจ้าหน้าที่มีความสุข ระบบสุขภาพยั่งยืน” เช่น 1.ประชาชนสุขภาพดี 2.เจ้าหน้าที่มีความสุข และ 3.ระบบสุขภาพยั่งยืน คือ ประชาชนมีระบบสุขภาพเป็นหนึ่งเดียว แบบองค์รวม ไร้รอยต่อ เป็นธรรม และมั่นคงทางสุขภาพ มุ่งพัฒนา ฯลฯ นั่นคือบางส่วนของแผนยุทธศาสตร์ชาติด้านสาธารณสุข

ความพยายามในการดูแลสุขภาพของคนไทยที่นำเทคโนโลยีเข้ามาเชื่อมโยงกันผ่านระบบอินเทอร์เน็ต รวมทั้งพัฒนาแอพพลิเคชั่นต่างๆ เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการที่มีคุณภาพ สะดวก รวดเร็ว วันก่อนเห็นข่าวการพัฒนาขึ้นไปอีกระดับของกระทรวงสาธารณสุขที่ใส่ใจเรื่องสุขภาพของคนไทย ได้มีการร่วมมือกับคณะวิศวกรรมศาสตร์และคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

โดยจัดทำโครงการต้นแบบพัฒนาเครือข่ายทางการแพทย์และสาธารณสุข สร้างแอพพลิเคชั่น “หมอรู้จักคุณ” ทำให้ประชาชนติดต่อสื่อสาร ขอรับบริการ และรับคำปรึกษาจากบุคลากรทางการแพทย์ได้อย่างใกล้ชิด มีข้อมูลสุขภาพเพื่อใช้ในการดูแลสุขภาพตนเองได้ดีขึ้น กรณีฉุกเฉินสามารถขอความช่วยเหลือเชื่อมโยงกับระบบ 1669 ขณะที่บุคลากรสุขภาพแอพพลิเคชั่น “หมอรู้จักคุณ” เข้าถึงข้อมูลผู้ป่วยและประชาชน ได้สะดวกรวดเร็ว ลดภาวการณ์รู้เท่าไม่ถึงการณ์ในการรักษาจากอาการเจ็บป่วยเบื้องต้น

'หมอรู้จักคุณ' 4.0

การพัฒนาแอพพลิเคชั่นนี้ถือว่าเข้ากับคนในยุคปัจจุบันที่ล้วนแล้วแต่มีโทรศัพท์สมาร์ทโฟนและอินเทอร์เน็ต ช่องทางการติดต่อผ่านระบบออนไลน์จึงได้ถูกนำมาใช้ในระบบบริการสุขภาพต่อประชาชน ถือว่าเป็นการแทรกซึมอย่างมีประโยชน์ โดยเฉพาะในพื้นที่ต่างจังหวัด เชื่อว่าจะเกิดประโยชน์กับประชาชนอย่างมาก เพราะบางครั้งมีอาการเจ็บป่วยเพียงเล็กน้อย ก็สามารถขอคำปรึกษาผ่านแอพพลิเคชั่นนี้ได้ โดยที่ไม่จำเป็นต้องเดินทางไปโรงพยาบาลในตัวเมืองที่อยู่ห่างไกลหายสิบกิโลเมตร แต่เราใช้ประโยชน์จากช่องทางนี้สื่อสารกับแพทย์หรือเจ้าหน้าที่พยาบาลได้

ที่สำคัญยังทำให้ประชาชนรับรู้ข่าวสารโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ได้ เป็นการสร้างภูมิคุ้มกันทางความรู้ การปฏิบัติตัวอย่างถูกต้องตามหลักการปฐมพยาบาลเบื้องต้น ที่สำคัญลดภาระรายจ่ายค่าเดินทางลงได้ระดับหนึ่ง นับว่าเข้าถึงโอกาสทุกคนอย่างเท่าเทียม อย่างน้อยที่สุดช่องทางดังกล่าวจะเป็นตัวกลางประเมินความเสี่ยงของผู้ป่วยในเบื้องต้น อนาคตหากนำมาใช้ทั่วประเทศน่าจะสร้างภูมิคุ้มกันให้ประชาชนได้อย่างดีแม้ว่าปัจจุบันจะนำร่องใช้อยู่ในเฉพาะ จ.พิษณุโลก ก่อนก็ตาม

กระทรวงสาธารณสุขเห็นว่าเทคโนโลยีจะเข้ามาช่วยร่วมพัฒนาระบบบริการสุขภาพ จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพบริการทางการแพทย์ เพิ่มความสามารถในการเข้าถึง ลดความเหลื่อมล้ำด้านการรับบริการ และส่งเสริมให้ประชาชนดูแลสุขภาพตนเองได้ดียิ่งขึ้น สิ่งเหล่านี้จะช่วยผ่อนแรงเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ได้ไม่น้อย

แอพพลิเคชั่น “หมอรู้จักคุณ” น่าจะเป็นทางเลือกสำคัญที่ทุกคนควรจะกดโหลดแอพพลิเคชั่นนี้ลงในโทรศัพท์สมาร์ทโฟนไว้เผื่อยามฉุกเฉิน