posttoday

พิษเซลฟี่

20 กันยายน 2561

กรมสุขภาพจิตเตือนว่า คนที่ชอบโพสต์ภาพเซลฟี่ที่ใช้แอพพลิเคชั่นแต่งภาพให้ดูดีเกินจริง เสี่ยงที่จะทำให้กลายเป็นคนขาดความเชื่อมั่นในโลกความจริง

โดย..มะกะโรนี

เซลฟี่ (Selfie) หรือนิยามที่ตรงกับเจตนาที่สุดก็คือ การถ่ายรูปตัวเองด้วยกล้องดิจิทัล หรือกล้องโทรศัพท์มือถือ เพื่อโพสต์บนโลกออนไลน์ อย่างที่ทราบกันดีอยู่แล้วก็คือ ภาพถ่ายเซลฟี่นั้นมักจะถูกนิยามเช่นกันว่าเป็นภาพที่มักดูดีเกินจริงเพราะผ่านการใช้สารพัดแอพพลิเคชั่นตกแต่ง

ในแง่มุมของประวัติศาสตร์ บันทึกกันไว้ว่าพฤติกรรมเซลฟี่นั้นเกิดขึ้นครั้งแรก โดย รอเบิร์ต คอร์เนเลียส ช่างภาพชาวอเมริกันเป็นผู้ริเริ่ม โดยใช้กระบวนการดาแกโรไทป์ หรือการถ่ายภาพบนวัตถุไวแสง กระบวนการดังกล่าว ก็คือการเล่นแร่แปรธาตุให้เกิดภาพบนแผ่นทองแดงชุบเงิน นั้นเอง

เซลฟี่ครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อปี 2382 หรือเมื่อ 179 ปีก่อน น่าเหลือเชื่อนะครับ มนุษย์เราเซลฟี่ครั้งแรกบนแผ่นทองแดงชุบเงิน แน่นอนว่าหลังจากปีดังกล่าวมีการใช้กล้องถ่ายภาพตัวเองไว้อีกมากมาย

แต่กว่าที่คำว่า “เซลฟี่” จะถูกบัญญัติเป็นคำศัพท์ครั้งแรกในพจนานุกรมของออกซฟอร์ดก็ต้องรอถึงปี 2556 โดยระบุไว้ว่าเป็นคำที่เริ่มใช้โดยชายออสเตรเลีย ที่ใช้คำนี้บรรยายภาพที่ถ่ายตัวเองระหว่างเมาสุราในงานวันเกิดเพื่อน

นับจากวันที่ศัพท์คำนี้ถูกนิยามได้ไม่กี่ปี พฤติกรรมเซลฟี่ก็เริ่มถูกตีความในแง่มุมต่างๆ มากขึ้น จนส่อเค้าว่า บางกรณีก็อาจจะกลายเป็นความเจ็บป่วยแห่งยุคสมัยได้เลยทีเดียว

ไม่นานมานี้ กรมสุขภาพจิตออกมาเตือนว่า คนที่ชอบโพสต์ภาพเซลฟี่ที่ใช้แอพพลิเคชั่นแต่งภาพให้ตัวเองดูดีหรือสวยเกินจริงก่อนโพสต์ในสังคมออนไลน์ เพื่อเรียกยอดไลค์สร้างความเชื่อมั่นนั้น พฤติกรรมเช่นนี้ คือการก้าวไปสู่ความเสี่ยงที่จะทำให้ตัวเองกลายเป็นคนขาดความเชื่อมั่นในโลกแห่งความเป็นจริง

น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต ระบุว่า การเซลฟี่นั้นส่งผลต่อความคิดในแง่ของตัวตนแต่ละคนเป็นอย่างมาก อาจจะลุกลามไปถึงการส่งผลต่อการดำเนินชีวิตและความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง หากเซลฟี่โดยไม่หวังผลอะไรมากก็ไม่ใช่เรื่องเสียหาย แต่หากตรงกันข้าม คือ เซลฟี่รัวๆ หวังเพื่อให้เพื่อนร่วมโลกออนไลน์มากดไลค์ ส่อเค้าไปในทางหมกมุ่นกับตัวเอง ผลลัพธ์ที่ได้ก็อาจจะกลายเป็นด้านลบ

อธิบดีกรมสุขภาพจิต อธิบายด้วยว่า เซลฟี่อาจส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นหรือความมั่นใจในตัวเอง กรณีที่โพสต์แล้วต้องมานั่งวิตกว่าได้รับการตอบรับน้อย คนกดไลค์น้อย ความคิดนี้จะส่งผลให้บุคคลนั้นขาดความมั่นใจ ไม่พอใจรูปลักษณ์ตัวเอง ชีวิตไม่มีความสุข เมื่อสะสมไปเรื่อยๆ อาจทำให้เกิดความผิดปกติทางจิตใจและอารมณ์ได้ง่าย เช่น หวาดระแวง เครียด ซึมเศร้า

หากเป็นเช่นนั้น เซลฟี่ก็จะกลายเป็นภัยเงียบที่น่าเป็นห่วง โดยเฉพาะหากเป็นกลุ่มเยาวชนที่หมกมุ่นกับเรื่องนี้จนทำให้กลายเป็นเด็กที่ขาดความมั่นใจในตัวเอง การใช้แอพพลิเคชั่นเซลฟี่ถี่จนเกินไป อาจเป็นสัญญาณของผู้ที่หมกมุ่นไม่พึงพอใจรูปร่างหน้าตาของตัวเองมากผิดปกติ เรียกว่ากลุ่มอาการ บีดีดี (Body Dysmorphic Disorder : BDD)

เซลฟี่กลายเป็นยาพิษกัดกร่อนความมั่นใจและความภาคภูมิใจในตัวเอง อาจจะไม่ใช่ปัญหาใหม่ แต่ใครจะปฏิเสธได้ว่าสิ่งนี้กำลังระบาดจนกลายเป็นปัจจัยทำให้ ชีวิตไร้สุข จนอาจจะสะสม พัฒนาไปสู่ความผิดปกติทางจิตใจและอารมณ์ สร้างความเครียด หวาดระแวง อิจฉา บ่มเพาะนิสัยชอบจับผิด พัฒนาเป็นอาการซึมเศร้า เสียการเสียงาน บางกรณี ถึงขั้นหลุดจากโลกความเป็นจริง ไม่สามารถใช้ชีวิตแบบคนปกติได้