posttoday

การศึกษารอดถ้าปรับตัว

19 กันยายน 2561

การศึกษาเป็นอีกวาระสำคัญของชาติที่ต้องให้ความสำคัญ เนื่องจากทิศทางของโลกได้เปลี่ยนไป ทำให้มหาวิทยาลัยต้องปรับตัว

โดย..สลาตัน

เรื่องการศึกษาเป็นอีกวาระสำคัญของชาติที่ต้องให้ความสำคัญ เนื่องจากรูปแบบทิศทางของโลกได้เปลี่ยนไป ทำให้มหาวิทยาลัยหลายแห่งยังไม่มีการปรับตัว ต้องจมอยู่กับหลักสูตรการเรียนการสอนเดิมๆ ล้าสมัย ในขณะที่ทั่วโลกต่างรุกคืบปรับตัวไปให้ทันกับสิ่งที่มหาวิทยาลัยทุกแห่งต้องผลิตเมล็ดพันธุ์การศึกษาส่งออกสู่ตลาดแรงงานอย่างตรงสายและมีคุณภาพ

วกกลับมาที่ประเทศไทยเอง ช่วงไม่กี่ปีนี้เราจะเห็นความพยายามในการกระตุ้นของรัฐบาลปัจจุบัน ที่พยายามให้มหาวิทยาลัยทุกแห่งปรับตัวเปลี่ยนแปลงไม่ใช่รูปแบบการสอนเดิมๆ อีกต่อไป เพราะแรงงานที่ผลิตออกมานั้นไม่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้จ้างแล้ว โดยเฉพาะภาคสายอาชีวศึกษาที่รัฐพยายามเน้นย้ำปลูกเมล็ดพันธุ์รุ่นใหม่ออกมาให้มากที่สุด

หากวันนี้รูปแบบการศึกษาไทยยังเป็นเช่นเดิมเหมือนที่ผ่านมา แรงงานที่จบมาคงไม่สามารถตอบสนองความต้องการตำแหน่งงานที่ว่างอยู่จำนวนมาก สุดท้ายบัณฑิตจบใหม่ออกมาต้องเดินเตะฝุ่นกินลมหางานทำ ผนวกกับการใช้ระบบเทคโนโลยีสมัยใหม่ อย่างระบบ AI เข้ามาช่วยลดภาระงาน ลดค่าใช้จ่ายในสถานประกอบแล้ว

เมื่อประมาณต้นปีที่ผ่านมารัฐบาลเทงบประมาณกลางปีกว่า 1,396 ล้านบาท เพื่อเริ่มโครงการสร้างบัณฑิตและอาชีวะพันธุ์ใหม่เป็นโครงการเร่งด่วน ระยะเวลา 5 ปี ตั้งเป้าเมื่อจบโครงการจะผลิตเมล็ดพันธุ์ชั้นดีได้จำนวน 115,626 คน

โครงการสร้างบัณฑิตและอาชีวะพันธุ์ใหม่เกิดขึ้นเพื่อตอบโจทย์ 3 ประการ คือ 1.เพื่อตอบโจทย์เป้าหมายของประเทศยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และโครงการไทยแลนด์ 4.0 2.ตอบโจทย์ปัญหาของประเทศที่ขาดแคลนช่างฝีมือ ช่างที่มีทักษะชั้นสูง รวมถึงวิศวกรด้านต่างๆ โดยเฉพาะช่างอุตสาหกรรม ช่างเทคนิค ซึ่งตอบสนองต่อ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย

สุดท้าย 3.ตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรม เนื่องจากที่ผ่านมาได้รับเสียงสะท้อนจากภาคอุตสาหกรรมว่าภาครัฐผลิตบุคลากรไม่ตรงตามความต้องการของตลาด

นั่นคือโจทย์สำคัญที่ชี้ให้เห็นแล้วว่ามหาวิทยาลัยและสถาบันอาชีวะต้องปรับหลักสูตร ปรับกระบวนการเรียนการสอน โดยสิ่งสำคัญคือต้องจัดให้มีการเรียนในสถานที่จริงอย่างน้อย 50 เปอร์เซ็นต์ของเวลาเรียน เพื่อให้สามารถทำงานได้จริงกับภาคอุตสาหกรรม

โครงการนี้คาดการณ์กันว่าดำเนินการตั้งแต่เดือน พ.ค. 2561 ที่ผ่านมาแล้ว จากนี้เรารอดูเมล็ดพันธุ์ใหม่ที่จะถูกสร้างขึ้นมา จะตอบโจทย์ตรงความต้องการตลาดแรงงานหรือไม่ ต้องยอมรับว่าแรงงานอาชีพที่มีทักษะฝีมือคือความต้องการของคนทั่วโลก และถือเป็นตำแหน่งที่มีงานรองรับทั้งหมด เรียนมาไม่มีตกงาน

วันนี่เราจึงเห็นหลายมหาวิทยาลัยพยายามปรับตัว เพียงไม่ให้ถูกกลืนกินไปกลับยุคสมัยใหม่ที่รูปแบบการสอนเดิมกลายเป็นเรื่องอดีตไปแล้ว ครู อาจารย์ มหาวิทยาลัยต่างดิ้นรนเพื่อให้อยู่รอดรักษาอาชีพและความรู้ไว้ ประคองตัวเองปรับรูปแบบการสอนให้ทัดเทียมกับตลาดแรงงานสมัยใหม่ ที่ตรงตามความต้องการ ถ้าหากไม่ทำเช่นนั้นเราจะเห็นสิ่งที่ไม่ควรจะเห็น

อนาคตข้างหน้าอาจต้องเห็นภาพตึกมหาวิทยาลัยที่เคยศึกษาปิดตัวลง อาจารย์เคยสอนหนังสือสมัยเรียนต้องถูกรีไทร์ออก เป็นภาพความเจ็บปวดใจอย่างยิ่งในฐานะ “เรือจ้าง” และไม่ควรเกิดขึ้น สิ่งที่เราจะอยู่คู่ไปกับความเปลี่ยนแปลงต้องรีบปรับตัว ปรับใจ อยู่กับปัจจุบัน ถ้าสิ่งเหล่านี้ทำได้จริง อนาคตการศึกษาไทยคงเดินต่อไปได้เหมือนเดิม