posttoday

เสี่ยงสู้

13 กันยายน 2561

ชาวสวนยางพารา กับปัญหาราคายางที่กลายเป็นวิกฤตลุกลามไปไกล สร้างผลกระทบไปทุกภาคส่วนในอุตสาหกรรมยางพารา

โดย..นาย ป.

ยิ่งเข้าใกล้เทศกาลเลือกตั้ง แต่วันนี้แทบจะไม่รู้เลยว่านโยบายพรรคการเมืองใดจะดีเลิศพอช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรชาวสวนยางพาราได้บ้าง เพราะขณะนี้ปัญหาได้กลายเป็นวิกฤตลุกลามไปไกล สร้างผลกระทบไปทุกภาคส่วนในอุตสาหกรรมยางพารา

ไล่ตั้งแต่ชาวสวน คนกรีดยางที่เป็นแรงงานต่างด้าว ผู้ประกอบการลานรับซื้อ หรือแม้แต่อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ต่อเนื่องเกี่ยวกับยางและไม้ยาง หรือประสบปัญหากันตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ

กลุ่มที่เจ็บหนักสุดเห็นจะเป็นผู้ผลิตยางที่เป็นชาวสวนยาง ตอนนี้ต้องดิ้นรนช่วยตัวเองตามยถากรรม บางรายยอมเสี่ยงโค่นสวนยางแล้วเปลี่ยนไปปลูกพืชอย่างอื่นแทน

สำหรับพืชที่นิยมปลูกกันมากตอนนี้ คือ ทุเรียน กลายเป็นราชินีแห่งผลไม้ไทย ที่ราคาต่อกิโลกรัมสูงที่สุดในบรรดาผลไม้ทั้งหมด กับกาแฟ กลายเป็นเครื่องดื่มยอดนิยมและธุรกิจเกี่ยวกับกาแฟกำลังบูม

การเปลี่ยนแปลงคงไม่ใช่เรื่องง่ายอย่างที่รัฐบาลแนะนำ เพราะอย่าลืมว่าแม้วันนี้ราคายางพารา 5 กิโลกรัม 100 บาทนั้น ก็ยังเป็นรายได้ที่เข้ามาหล่อเลี้ยงครอบครัวอยู่ทุกวัน อาจจะเป็นรายได้ที่ขาดทุนทางต้นทุนการผลิต แต่ก็ยังมีเงินสดเข้ากระเป๋าให้ได้จับจ่ายใช้สอยภายในครอบครัว แม้จะไม่มากหากใช้ชีวิตแบบประหยัดก็พออยู่ได้

แต่หากจะโค่นยางทิ้งยกสวนแล้วหันไปปลูกทุเรียน ต้องใจถึงไม่น้อย กล่าวคือจะเอาเงินทุนจากที่ไหนหลายแสนบาทมาลงทุน เพราะในการปรับเปลี่ยนไปปลูกทุเรียนต้นทุนสูงมาก

โค่นต้นยาง อาจได้เงินบางส่วนคืนมาในรูปขายไม้ยางแต่ใช่ว่าจะมากมายเพราะธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ไม้ยางก็ตกต่ำอยู่ตอนนี้ ไม่ต้องพูดถึงราคารับซื้อจะต่ำแค่ไหน แต่ยังต้องใช้เงินทุนอีกจำนวนมาก

ส่วนทุเรียน ขณะนี้ยอมรับว่าคนปักษ์ใต้สนใจจะปลูกกันมาก หากใครคิดจะปลูกการลงทุนย่อมมากับความเสี่ยง เสี่ยงตั้งแต่ลองผิดลองถูกว่าจะให้ผลผลิตตามที่ตลาดต้องการหรือไม่ เพราะถือเป็นเรื่องใหม่มากสำหรับคนใต้ในการปลูกทุเรียน 3 พันธุ์ยอดฮิต ก้านยาว หมอนทอง และชะนี

การลงทุนเรื่องใหญ่ อาทิ ปรับพื้นที่ วางระบบน้ำ ปุ๋ยยา และการบำรุงรักษาที่ต้องเอาใจใส่ ลงทุนคร่าวๆ หลายแสนบาทต่อไร่ ที่สำคัญกว่าจะเก็บเกี่ยวได้อีก 5-7 ปีข้างหน้า ถามว่าระหว่างที่กว่าจะเก็บทุเรียนขายได้ชาวสวนจะกินอะไร เพราะจะมีแต่รายจ่าย ทั้งค่าปุ๋ยค่ายาและค่าน้ำ เป็นต้น

ต่างจากการปลูกยางหรือปาล์ม ที่ต้นทุนด้านเวลาในการดูแลบำรุงรักษา หรือต้นทุนการผลิต ปุ๋ยยาต่ำกว่ามาก และสิ่งที่ต้องตระหนักในการลงทุน คือทั้งทุเรียนและกาแฟเก็บเกี่ยวได้ปีละครั้ง

ตัวอย่างจังหวัดที่นิยมปลูก เช่น จ.ชุมพร นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี สงขลา หรือยะลา เช่นเดียวกับกาแฟที่เป็นเครื่องดื่มยอดนิยมของคนไทย ทำให้ธุรกิจกาแฟกำลังบูมมากๆ

พิจารณาได้จากธุรกิจเปิดร้านกาแฟผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด จึงทำให้คนปักษ์ใต้เริ่มหันมาปลูกกันมากขึ้น โดยเฉพาะที่ จ.ชุมพร กลายเป็นจังหวัดต้นแบบ ผลิตภัณฑ์โอท็อปกาแฟสำเร็จรูปที่ประสบความสำเร็จอย่างสูง

ปัญหายางพาราตกต่ำไม่ใช่แค่ปัญหาด้านราคาสินค้าเท่านั้น แต่ได้กลายเป็นวิกฤตเศรษฐกิจภาคใต้ วิกฤตเศรษฐกิจภาคใต้คราวนี้คงมีทางออกเดียว คือ ตัวใครตัวมัน ไม่มีทางจะไปพึ่งพารัฐบาล หรือพรรคการเมืองใดได้

ดังนั้น เกิดเป็นคนปักษ์ใต้อย่างอมืองอเท้ารอรัฐบาลมาช่วย ต้องกล้าเสี่ยงดีกว่าอยู่ไปวันๆ รอให้ราคายางตกต่ำจนติดดิน เพราะไม่มีรัฐบาลไหนช่วยได้