posttoday

ป้องกันโรค

04 กันยายน 2561

โรคมือ เท้า ปาก เป็นโรคที่พบบ่อยในเด็กเล็กโดยเฉพาะช่วงหน้าฝน

โดย..แสงตะเกียง

โรคมือ เท้า ปาก เป็นโรคที่พบบ่อยในเด็กเล็กโดยเฉพาะช่วงหน้าฝน เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อจากกลุ่มเอนเทอโรไวรัส ส่งผลให้มีอาการไข้ เป็นแผลในปาก มีตุ่มน้ำใสตามฝ่ามือ ฝ่าเท้า และลำตัว ถือได้ว่าเป็นโรคที่สร้างความกังวลใจให้กับผู้ปกครองของเด็กอย่างมาก

จากสถิติตั้งแต่วันที่ 31 ก.ค.ที่ผ่านมา พบว่าประเทศไทยมีจำนวนผู้ป่วยสะสมจำนวน 3.8 หมื่นราย โดยเป็นผู้ป่วยในพื้นที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) จำนวน 6,000 ราย เฉลี่ยผู้ป่วยส่วนใหญ่อายุระหว่าง 0-4 ขวบ รองลงมา 5-9 ขวบ ซึ่งพื้นที่พบผู้ป่วยโรคมือ เท้า ปาก มากที่สุด คือ เขตหนองจอก พญาไท และปทุมวัน

อย่างไรก็ตาม โรคนี้สามารถแพร่ระบาดได้ตลอดทั้งปี แต่จะพบอัตราผู้ป่วยสูงสุดช่วงเดือน ก.ค.ของทุกปี และแต่ละปีมีอัตราการป่วยเฉลี่ยประมาณ 2,000 ราย/เดือน ส่วนแหล่งที่พบการระบาด คือ สถานรับเลี้ยงเด็กและโรงเรียนอนุบาล ดังนั้นเด็กวัยเรียนที่มีอายุ 0-5 ขวบ จึงเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการเจ็บป่วย หากเกิดภาวะแทรกซ้อนอาจเกิดอันตรายถึงแก่ชีวิตได้

วิธีสังเกตเด็กถ้ามีอาการไข้สูง เด็กซึม รับประทานอาหารได้ยาก เด็กบ่นปวดหัวมาก หายใจหอบ เหนื่อยเร็ว เป็นอาการที่ผู้ปกครองอย่าไว้ใจ ควรจะพาไปพบแพทย์โดยเร็ว ซึ่งโรคมือ เท้า ปากเป็นการรักษาเฉพาะตามอาการที่พบ ยังไม่มียาหรือวัคซีนที่รักษาโรคมือ เท้า ปากโดยตรง เช่น ถ้าเป็นไข้ก็ให้ยาลดไข้ เช็ดตัว ถ้ารับประทานยากก็อาจจะให้น้ำเกลือแทนได้

ทั้งนี้ การแพร่ระบาดสามารถติดต่อกันได้โดยการสัมผัสกับน้ำลาย น้ำมูก ผื่นตุ่มน้ำใส และอุจจาระของผู้ป่วย เชื้ออาจจะแพร่กระจายโดยผ่านทางมือผู้ที่สัมผัสกัน เช่น การเปลี่ยนผ้าของเด็กเล็ก สารคัดหลั่งจากจมูก ลำคอ น้ำลาย และน้ำจากตุ่มใส และสามารถติดต่อทางอ้อมจากการสัมผัสของเล่น อาหารหรือน้ำดื่มที่ปนเปื้อนเชื้อ

กระนั้นผู้ที่เคยเป็นแล้วยังเจ็บป่วยซ้ำได้อีก เนื่องจากภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นในผู้ป่วยที่หายจากการติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์หนึ่งๆ อาจไม่สามารถช่วยป้องกันการติดเชื้อจากไวรัสสายพันธุ์อื่นได้ แม้จะจัดอยู่ในกลุ่มย่อยของเชื้อไวรัสเดียวกัน

สำหรับมาตรการป้องกันโรคมือ เท้า ปาก ทางสำนักอนามัย กทม. ขอความร่วมมือให้ประชาชนช่วยกันเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมการเกิดโรคดังกล่าว เบื้องต้นประชาชนสามารถปฏิบัติได้ ดังนี้ 1.กินร้อนช้อนกลาง ล้างมือบ่อยๆ โดยเฉพาะหลังปัสสาวะ อุจจาระ และไม่กินน้ำแก้วเดียวกัน

2.คัดกรองเมื่อพบว่าเด็กมีไข้ เจ็บปาก น้ำลายไหล ไม่กินอาหาร แนะนำให้ตรวจในช่องปาก ลิ้นเหงือก กระพุ้งแก้มว่ามีตุ่มหรือแผล ตรวจดูฝ่ามือ ฝ่าเท้าว่ามีตุ่มแดงหรือตุ่มพองใสหรือไม่ หากมีให้รีบแยกเด็กเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อทันที จากนั้นให้เด็กหยุดเรียนเป็นเวลา 7 วัน

3.ทำความสะอาดสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ เช่น โต๊ะ เก้าอื้ ราวบันได ลูกบิดประตู ห้องส้วม และเครื่องเล่นเด็ก โดยใช้ผงซักฟอกละลายน้ำเช็ดตามด้วยน้ำยาคลอรอกซ์ หรือไฮเตอร์ โดยให้เช็ดอีกรอบทิ้งไว้ 10 นาทีแล้วล้างออกด้วยน้ำสะอาด ส่วนของเล่นที่เข้าปากใช้ผงซักฟอกเช็ด ล้างน้ำสะอาดแล้วผึ่งแดด

4.การปิดสถานรับเลี้ยงเด็ก ควรปิดเมื่อมีเด็กป่วยมากกว่า 2 รายในห้องเดียวกัน โดยปิดเฉพาะห้องที่เด็กป่วย 7 วัน และหากมีเด็กป่วยมากกว่า 5 รายในห้อง หรือมากกว่า 1 ห้อง ให้ปิดโรงเรียน 5 วัน และทำความสะอาดตามข้อ 3

จากสถานการณ์ที่ปรากฏ วิธีการป้องกันที่ดีที่สุดคือผู้ปกครองต้องช่วยกันเฝ้าระวัง รักษาความสะอาด เพื่อไม่ให้บุตรหลานต้องเจ็บป่วยจากโรคภัยชนิดนี้ได้อีก