posttoday

2 บิ๊กเบิ้ม+น้ำพริกปลาทู

31 สิงหาคม 2561

ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับญี่ปุ่นที่แปรเปลี่ยน โดยทำท่าจะมีไทยเป็นจุดเชื่อมต่อที่สำคัญ

โดย..ณ กาฬ เลาหะวิไลย

เรื่องที่ไม่น่าเชื่อก็เกิดขึ้นได้เสมอในโลกใบนี้

อย่างล่าสุดก็คือความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับญี่ปุ่นที่แปรเปลี่ยน โดยทำท่าจะมีไทยเป็นจุดเชื่อมต่อที่สำคัญ

ทั้ง 2 ชาติ มีปมกันมาตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 และก็ขัดแย้งสารพัดปัญหามาตลอด

ยิ่งเฉพาะเมื่อครั้ง บารัก โอบามา จากพรรคเดโมแครต เป็นประธานาธิบดีสหรัฐ ได้ใช้นโยบายมองเอเชีย กระชับความสัมพันธ์กับญี่ปุ่น เพื่อสกัดกั้นอิทธิพลของจีนในภูมิภาคเอเชีย และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

คงจำกันได้โครงการที่โด่งดังทั้งโลกก็คือ ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือ ทีพีพี ที่มีสหรัฐกับญี่ปุ่นเป็นหัวหอกสำคัญ ได้เกิดขึ้นเพื่อลดทอนอิทธิพลของโครงการ 1 แถบ 1 เส้นทาง หรือ One Belt One Road ของจีน

แต่แล้วไปๆ มาๆ จีนกับญี่ปุ่นกลับกระโดดมากอดกัน เป็นฉากที่ทำให้โลกตะลึง

ทั้งหมดมีปัจจัยจากสหรัฐเป็นตัวแปรอีกเช่นกัน ภายหลังจาก โดนัลด์ ทรัมป์ แห่งพรรครีพับลิกัน ขึ้นมาเป็นประธานาธิบดี เมื่อเดือน ม.ค. 2560 นโยบายของสหรัฐก็เปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง

ข้อตกลงต่างๆ ที่เคยทำไว้เป็นอันเลิก และสหรัฐก็เริ่มเปิดศึกกับประเทศต่างๆ ไม่เว้นวาย ไม่เว้นแม้กระทั่งญี่ปุ่น

แรงกดดันทั้งหมดทำให้ทั้งญี่ปุ่น จีน หันกลับมาหากัน

ก้าวสำคัญคือ เมื่อต้นปีที่ผ่านมา ทาโระ โคโนะ รัฐมนตรีต่างประเทศญี่ปุ่น เดินทางไปเยือนจีนอย่างเป็นทางการ

จากนั้น หวังอี้ รัฐมนตรีต่างประเทศและมนตรีแห่งรัฐจีน เดินทางมาเยือนกรุงโตเกียวในเดือน เม.ย. ถือเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศจีนคนแรกที่เดินทางเยือนญี่ปุ่นเพื่อเจรจาทวิภาคีในรอบ 9 ปี

ในเดือน พ.ค. การขยับใหญ่ก็เกิดขึ้นอีก เมื่อ นายกรัฐมนตรี หลี่เค่อเฉียง ของจีน เดินทางเยือนญี่ปุ่นอย่างเป็นทางการ โดยเป็นนายกฯ จีนคนแรกที่เดินทางเยือนญี่ปุ่นในรอบ 7 ปี

การเดินทางครั้งนั้น ได้มีข้อตกลงร่วมกันว่าจะปรับความสัมพันธ์สู่ระดับปกติ โดยมีการเจรจาเกิดขึ้นทั้งระดับผู้นำและรัฐมนตรี

สิ่งที่เป็นรูปธรรมคือจีนและญี่ปุ่นได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอกชนระหว่างจีน-ญี่ปุ่น ในประเทศที่สาม

นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของทั้งสองชาติที่เปลี่ยนจากคู่แข่งมาเป็นพันธมิตร

และที่น่าสนใจก็คือ โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ของไทย กลายเป็นจุดที่จีน-ญี่ปุ่น สนใจจะมาลงทุนร่วมกันตามข้อตกลงที่ทำกันไว้

ที่เป็นข่าวหมาดๆ 2 ชาติ มีโอกาสจับมือกันในเรื่องรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน การพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา ท่าเรือแหลมฉบัง

แมัการดำเนินงานทั้งหมดต้องใช้เวลา ยากคาดเดาว่าสุดท้ายจะร่วมมือกันได้จริง รวมถึงมีโอกาสเกิดได้มากน้อยเท่าใด

แต่ทั้งหมดแค่เริ่มต้น แค่คิดก็เคลิ้มแล้ว

ถ้าเป็นจริงได้ เห็นทีต้องฉลองใหญ่ 7 วัน 7 คืน