posttoday

น่าเสียดาย...อี-ตุ๊ก

16 สิงหาคม 2561

สินค้าที่มีต้นกำเนิดจากไทย กำลังขจรไกล กลายเป็นยุค อี-ตุ๊ก หรือรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้า

โดย..ณ กาฬ เลาหะวิไลย

สินค้าที่มีต้นกำเนิดจากไทย กำลังขจรไกล กลายเป็นยุค อี-ตุ๊ก

อี-ตุ๊ก ที่ว่าก็คือ อี-ตุ๊ก ตุ๊ก (E-Tuk Tuk) หรือ รถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้า

บริษัทที่เปิดตลาด อี-ตุ๊ก ตุ๊ก ก็คือ ตุ๊ก ตุ๊ก แฟคตอรี่ (Tuk Tuk Factory) สัญชาติเนเธอร์แลนด์

ล่าสุดถึงขนาดมีสำนักข่าวระดับโลก อย่าง ซีเอ็นบีซี ไปสัมภาษณ์ถึงแนวทางเปิดตลาดอี-ตุ๊ก

แน่นอนว่า ตลาดใหญ่สุดของตุ๊ก ตุ๊ก ไม่ได้อยู่ที่ไหน ก็อยู่เมืองไทยนี่เอง

จากการคำนวณของ ตุ๊ก ตุ๊ก แฟคตอรี่ พบว่า รถตุ๊กตุ๊กแต่ละคันในเมืองไทย ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 4 ตัน/ปี และหากประเมินจำนวนรถตุ๊กตุ๊กในประเทศไทยที่มีอยู่ราวๆ 2 หมื่นคัน จะพบว่ามีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 1 แสนตัน

ตลาดในเมืองไทยจึงมีขนาดใหญ่มาก จากแนวโน้มของโลกที่กำลังเปลี่ยนไปยังรถยนต์ไฟฟ้า

ล่าสุด ตุ๊ก ตุ๊ก แฟคตอรี่ ได้ขยายตลาดในไทยโดยมี 2 โครงการสำคัญ คือ การเตรียมส่งมอบรถที่ จ.เชียงใหม่ 450 คัน และขยายไปยังโรงแรม รีสอร์ท ภาคอื่นๆ อีก 100 คัน

ทั้งหมดที่ทำ คือ การนำสินค้าที่มีอยู่แล้วมาปรับปรุงคุณภาพ และเพิ่มราคาขาย

แล้ว ตุ๊ก ตุ๊ก แฟคตอรี่ เกิดความคิดต้องการผลิตรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้าได้อย่างไร

คำตอบก็คือ ก็มาจากเมืองไทยนี่เอง ที่ผู้เริ่มก่อตั้ง แบกเป้มาเที่ยว เจอกับรถตุ๊กตุ๊ก จนเกิดความประทับใจ

หลังจากนั้นในปี 2549 ก็มีการสั่งนำเข้ารถตุ๊กตุ๊กไปขายที่เนเธอร์แลนด์ จำนวน 50 คัน ปรากฏว่าขายหมดอย่างรวดเร็ว

ในปี 2550 ถัดมา เลยเกิดความคิดจะผลิตรถที่สะอาด พรีเมียม ซ่อมบำรุงต่ำ เป็นที่มาของการแปลงโฉมรถตุ๊กตุ๊กเป็นรถไฟฟ้า

แต่ปัญหาที่พบ ก็คือ การใช้แบตเตอรี่ขนาดเล็ก มีสารพัดปัญหา เลยมีความคิดใหม่ในการใช้แบตเตอรี่ขนาด 400 กิโลกรัมขึ้นไป และทำให้สามารถบรรทุกผู้โดยสารได้มากกว่า 6 คน กลายเป็นอี-ตุ๊ก ที่มีขนาดใหญ่กว่าเดิม

โรงงานผลิตแห่งแรกตั้งขึ้นที่เนเธอร์แลนด์ในปี 2551

ถัดจากนั้น ในปี 2554 จึงได้มีการตั้งโรงงานที่เมืองไทย

อี-ตุ๊ก จึงเป็นการพลิกโฉมสินค้า เพิ่มมูลค่า โดยส่งออกไปขายต่างแดน ไม่เพียงแต่ยุโรป แต่ยังไปเปิดตลาดถึงสหรัฐอเมริกา

สนนราคาของรถคันละระหว่าง 16,950-25,000 ดอลลาร์ คิดเป็นเงินไทยก็กว่า 5-8 แสนบาท ขึ้นอยู่กับว่าลูกค้าจะเลือกแบบใด

รถที่ออกแบบมายังมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว แบ่งได้เป็น 3 รูปแบบ

รูปแบบแรกเรียกว่า อี-ตุ๊ก คาร์โก (E-Tuk Cargo) ใช้สำหรับการบรรทุกสินค้าไปยังถนน ซอกซอยต่างๆ ดีไซน์สวยงามโดดเด่น

รูปแบบที่ 2 เป็น อี-ตุ๊ก ลีโม (E-Tuk Limo) เป็นรถที่ใช้สำหรับการรับส่งผู้โดยสาร 4 คนขึ้นไป แบบนั่ง 2 แถว เรียกความสนุกสนาน ภูมิฐานไปอีกแบบ

สำหรับรูปแบบที่ 3 คือ อี-ตุ๊ก เวนโด (E-Tuk Vendo) ใช้งานแง่ธุรกิจ เปิดท้ายขายของ พื้นที่ที่เคยใช้สำหรับบรรทุกผู้โดยสาร ก็เปลี่ยนเป็นคีออสก์
เคลื่อนที่ขายอาหารสะดวกซื้อ หรือบาร์เบียร์เคลื่อนที่

เห็นแล้วก็นึกว่าชมเจ้าของ ตุ๊ก ตุ๊ก แฟคตอรี่ ที่เก่งจริงๆ

และต้องเสียดายแทนคนไทยจริงๆ ของดีมีอยู่มองไม่เห็น

เสร็จเขาไปอีกแล้ว