posttoday

ระวังตกม้าตาย

13 สิงหาคม 2561

เห็นทีคงต้องตามติดแบบห้ามกะพริบตาหลังชุลมุนชุลเกไปกับปมปัญหาที่สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)

โดย ทองพระราม
 
เห็นทีคงต้องตามติดแบบห้ามกะพริบตาหลังชุลมุนชุลเกไปกับปมปัญหาที่สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จำนวน 36 คนได้เข้าชื่อเรียงรายยาวลิ่วเป็นหางว่าวเพื่อต้องการขอแก้ไข พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง ในประเด็นการตั้งผู้ตรวจการเลือกตั้ง
 
หลังก่อนหน้า กกต.ชุดเก่า ได้ประกาศรายชื่อผู้ที่เข้ามาทำหน้าที่ดังกล่าวครบทุกจังหวัด จำนวน 616 คน ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากสมาชิก สนช.บางส่วนตำหนิในเรื่องมารยาทที่ควรปล่อยให้ กกต.ชุดใหม่ทำ
 
ทว่า กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ หรือ กรธ. และ กกต.ชุดเก่า มองว่าเรื่องนี้ไม่ใช่ประเด็นสาระสำคัญอะไร อันเนื่องมาจากกฎหมายที่มีอยู่รองรับให้ กกต.ชุดเก่าดำเนินการได้ เป็นที่มาของการเข้าชื่อเพื่อขอแก้ไขกฎหมายตัวนี้ โดยดำเนินการตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับปัจจุบันทันด่วน เพื่อรับฟังความเห็นประชาชน
 
แต่จนแล้วจนรอดก็ไม่พ้นต้องกลายมาเป็นประเด็น เนื่องจากที่มีการนำร่างซึ่งต้องการขอแก้ไขลงบนเว็บไซต์ https://www.senate.go.th/ เพียงไม่กี่เพลา ปรากฏว่าได้มีประชาชนเข้ามาตอบแบบสอบถามจำนวนมาก และเห็นด้วยที่จะให้มีการแก้ไขกฎหมายดังกล่าว ชนิดเรียกว่า ฟ้าถล่ม ดินทลาย มลายสิ้น พื้นปฐพี
 
และนับต่อมาไม่นาน กลับกลายเป็นว่ามีประชาชนเข้ามาตอบแบบสอบถาม และคัดค้านการแก้ไขกฎหมายฉบับนี้ ชนิดเรียกว่า ตรงข้าม สุดลิ่ม ทิ่มประตู กันก็ว่าได้ สำทับด้วยผู้มากประสบการณ์ในการทำผลสำรวจความคิดเห็นประชาชน อย่าง นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัย ซูเปอร์โพล ถึงหลักวิชาการต่อการทำเรื่องนี้
 
เพราะส่อผิดหลัก 3 ประการอย่างน้อย 1.ไม่มีการสุ่มตัวอย่างคนตอบ 2.หลักการออกแบบสอบถามที่ดีควรสั้นกะทัดรัดประเด็นเดียว และ 3.ข้อมูลการสำรวจไม่ครอบคลุมกลุ่มประชากรเป้าหมาย
 
เมื่อเป็นเช่นนี้ก็ถึงคราวควรปรับปรุงระบบให้ได้มาตรฐาน เพื่อให้ได้เสียงของประชาชนในการสะท้อนออกมาอย่างแท้จริง หากไม่เช่นนั้น ก็คงต้องระวังตกม้าตาย แม้จะดำเนินการถูกต้องตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญในการรับฟังความเห็น หากแต่ความเห็นที่กำลังบอกมาไม่ได้มาจากความต้องการอันแท้จริงจากประชาชนแล้ว มาตราที่ถูกกำหนดขึ้นก็คงไร้ความหมาย และต่างจากเป้าประสงค์อันแท้จริงของมาตรา 77
 
เมื่อกฎหมายฉบับนี้หากเห็นถึงความสมควรได้รับการแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรม ก็ต้องปรับระบบรับฟังให้สอดรับกับเสียงสะท้อน หากสังเกตให้ดีจะพบว่าหนึ่งคนสามารถแสดงความเห็นได้หลายครั้ง จึงไม่ต่างอะไรกับการซื้อสิทธิ ขายเสียงในทางการเมือง
 
เพราะเวลาใช้สิทธิลงคะแนนเลือกตั้ง หนึ่งคนมีสิทธิเพียงแค่หนึ่งเสียงเท่านั้น ก่อนจรดปากกา กาเบอร์ที่ใช่ คนที่ชอบ เข้ามาเป็นผู้แทนราษฎรในสภาอันทรงเกียรติ
 
ไฉนเลยแบบสอบถามถึงตรงกันข้ามกับสิ่งที่พยายามดำเนินการตลอดเวลา 4 ปี ดังนั้น ไปลองคิดทบทวนดูใหม่จะทำอย่างไรให้ออกมาดี หากตกม้าตอนนี้รับรองแผลคงไม่สวย