posttoday

จราจรของคนกรุง

10 สิงหาคม 2561

หันไปทางไหนได้ยินแต่เสียงบ่นเรื่องการจราจร โดยเฉพาะถนนรามคำแหง ลาดพร้าว ศรีนครินทร์

โดย...มะกะโรนี

หันไปทางไหนได้ยินแต่เสียงบ่นเรื่องการจราจร โดยเฉพาะถนนรามคำแหง ลาดพร้าว ศรีนครินทร์ ซึ่งกำลังอยู่ในระหว่างเดินหน้าโครงการทั้งรถไฟฟ้า สายสีเหลือง และสายสีส้ม มาแล้วหลายเดือนติดต่อกัน

เมกะโปรเจกต์ที่เริ่มจากพื้นที่เล็กๆ ค่อยๆ ขยายออกไป จนปัจจุบันแนวการก่อสร้างกินพื้นที่การจราจรหลายจุด ทำให้ทั้ง 3 สายซึ่งปกติ แม้ไม่มีการก่อสร้างก็ถือว่ามีการจราจรเข้าขั้นวิกฤต รถติดหนักอยู่แล้ว พื้นที่สัญจรที่หายไป ยิ่งทำให้ตกอยู่ในระดับโคม่าเลยก็ว่าได้

ทุกๆ วัน ผู้คนในย่านนี้ต่างคุ้นเคยกับข่าวจราจรในพื้นที่ของตนเองที่เวียนวนอยู่กับข้อความ อย่าง บางจุดเคลื่อนได้ แต่ช้าสลับหยุดนิ่ง โดยเฉพาะถนนลาดพร้าวและรามคำแหง ซึ่งเชื่อมต่อกัน ลาดพร้าว ติดแน่นขนัด ทั้งขาเข้าและออก เส้นทางจราจรเหลือใช้ได้ 2 เลน ตั้งแต่ซอยลาดพร้าว 131 ผ่านซอยบิ๊กซีลาดพร้าว โชคชัยสี่ ลาดพร้าว 101 และแยกบางกะปิ ที่จะตัดเข้าลำสาลี โดยเฉพาะแนวการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้ม นอกจากนี้รถที่ออกมาจากซอยซึ่งมีหมู่บ้าน คอนโดมิเนียม ต่างๆ ออกมาสมทบจนขยับไม่ได้

มาดู เส้นรามคำแหงกันบ้าง ทั้งขาเข้าขาออก ภาพที่คุ้นตาคือ ติดขัดยาวเกือบตลอดเส้น หลายคนต่างอดคิดไม่ได้อย่างแน่นอนว่า ช่วงเวลาเร่งด่วนถนนเส้นนี้ได้ถูกเปลี่ยนจากเส้นทางจราจร เป็นเส้นทางทดสอบจิตใจ ทดสอบความอดทน ได้เลยทีเดียว

บนรถยนต์ส่วนตัวเปิดเครื่องปรับอากาศเย็นฉ่ำ ความอดทนอาจจะยังไม่ถูกท้าทายเท่าใดนัก แต่บนรถประจำทางที่เป็นรถเมล์ร้อนนั้นกล่าวได้ว่า ใครที่ผ่านพ้นไปถึงจุดหมายได้โดยที่กราฟความหงุดหงิดไม่กระดิกเลย สมควรได้รับประกาศนียบัตรประทับตราความสำเร็จอย่างยิ่ง

ย้อนกลับไปเมื่อสองปีก่อน ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเผยแพร่ข้อมูลงานวิจัยที่น่าสนใจ โดยระบุว่า การจราจรติดขัดในกรุงเทพมหานครนั้น ก่อให้เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจในหลายประเด็น ตั้งแต่ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม หรือวิธีการเดินทางของคนเมืองกรุงที่ถูกบิดเบือนค่าใช้จ่ายจากธุรกิจหนึ่งไปสู่อีกธุรกิจหนึ่ง การบริโภคเชื้อเพลิงพลังงานที่เพิ่มขึ้น คิดเป็นเม็ดเงินสูงถึง 6,000 ล้านบาท/ปี (เพิ่มขึ้นๆ ทุกปี)

หากใช้เวลาในการเดินทางนานขึ้น 35 นาที/การเดินทางแต่ละครั้ง เมื่อนำมาคำนวณเป็นค่าเสียโอกาสทางด้านเวลาที่ต้องรถติดอยู่บนถนน แทนที่จะนำเวลานั้นไปสร้างรายได้หรือกิจกรรมทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น จะคิดเป็นเม็ดเงินมูลค่าประมาณ 1.1 หมื่นล้านบาท/ปี หรือเฉลี่ยประมาณ 60 ล้านบาท/วัน และนี่ก็คือ ต้นทุนที่ประชากรยอมจ่ายเพื่อแลกกับการเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของเมืองกรุงให้ดำเนินต่อไปในทุกค่ำเช้า 

เราได้ยินกันจนชาชินแล้วว่าแก้การจราจรในระยะเวลาอันสั้นไม่ได้ และวันนี้ต้องฝากความหวังไว้ที่การพัฒนาระบบการขนส่งสาธารณะ (ซึ่งก็กำลังขุดกันอยู่) ที่จะมาเป็นฮีโร่ช่วยให้ปัญหาบรรเทาลง เรื่องนี้ฟังดูดีนะครับถ้าไม่เผลอไปเห็นข่าวรถไฟฟ้าที่ติดขัดบ่อยๆ

ในขณะที่ทางออกของภาครัฐเพื่อแก้ปัญหาการจราจรที่เผชิญอยู่ในปัจจุบันยังมาไม่ถึงในเร็ววัน หลายคนที่อาศัยอยู่ในละแวกรามคำแหง ลาดพร้าว เลี่ยงไปใช้การจราจรทางน้ำ นั่งเรือล่องคลองแสนแสบแทน แต่ดูเหมือนว่า เส้นทางนี้ได้ถูกสงวนไว้สำหรับนักเดินทางที่แกร่งพอที่จะรับมือกับการผจญภัยที่แฝงอยู่ในการเดินทางแต่ละครั้ง ในรูปของการแย่งชิงขึ้นเรือ ขึ้นลงอย่างแม่นยำ ระวังทั้งน้ำ (บางจุดสีดำเข้มข้น) และคลื่นที่สาดซัดจากเรือลำอื่น และปริมาณผู้โดยสารที่แน่นขนัด จนยากจินตนาการว่า หากเกิดอุบัติเหตุทางน้ำแล้วจะมีอะไรตามมาบ้าง