posttoday

งานเลี้ยงเลิกรา

09 สิงหาคม 2561

เรื่อง Disruptive Technology หรือการนำเอานวัตกรรมหรือเทคโนโลยีที่สร้างมูลค่าให้กับตัวสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ที่ใช้เทคโนโลยี

โดย...นาย ป.

เรื่อง Disruptive Technology หรือการนำเอานวัตกรรมหรือเทคโนโลยีที่สร้างมูลค่าให้กับตัวสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ที่ใช้เทคโนโลยี และส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อตลาดของสินค้า หรือผลิตภัณฑ์แบบเดิม จนทำให้ธุรกิจที่ใช้เทคโนโลยีแบบเดิมๆ ต้องล้มหายตายจากไป

เช่นเดียวกับการนำ Robotic หรือหุ่นยนต์ มาใช้แทนแรงงานคน เพราะหุ่นยนต์มีความแม่นยำสูง ไร้ปัญหาขาดงานลางาน หรือประท้วงขอขึ้นค่าแรง ความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้กำลังจะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงในอนาคตต่อภาคแรงงานของไทย ยิ่งในภาคอุตสาหกรรมสินค้าและบริการในอนาคตมีแนวโน้มที่จะเป็นการผลิต เพื่อตอบสนองความต้องการเฉพาะบุคคลนี้มากขึ้นเรื่อยๆ

การผลิตแบบ Mass Product หรือการผลิตสินค้าที่เหมือนกันทุกชิ้นเป็นจำนวนมากๆ ในคราวเดียว โดยใช้กำลังแรงงานคนในโรงงานอุตสาหกรรมจะน้อยลงไปทุกที สินค้าและบริการในอนาคตจะผลิตด้วยความคิดสร้างสรรค์ มีลักษณะเฉพาะตัว และสร้างมูลค่าเพิ่มโดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาแทนคน

ดังนั้น เครื่องจักรหรือเทคโนโลยีจะเป็นคู่แข่งสำคัญของคน อย่าคิดว่าปัญหานี้จะเกิดกับคนงานฉันทนาในโรงงานแบบเดิมๆ เช่น โรงงานปลากระป๋อง โรงงานผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า หรือโรงงานผลิตรถยนต์ ที่เราจินตนาการแบบเดิมๆ ไม่ใช่อีกแล้ว

อาจจะเป็นผู้ใช้แรงงานสายวิชาชีพ เช่น แพทย์ พยาบาล วิศวกร หรือ นักกฎหมายก็เป็นได้ เช่น ปัญญาประดิษฐ์เดี๋ยวนี้สามารถวินิจฉัยโรคจากข้อมูลและอาการได้ โดยไม่ต้องให้หมอตรวจร่างกาย แค่ตรวจจากน้ำตาลในเลือดก็รู้แล้วว่าคนไข้เป็นอะไร

ส่วนแรงงานที่ใช้กำลังแรงงานล้วนๆ ในนิคมอุตสาหกรรมฝ่ายนายจ้างโดยเฉพาะนายจ้างสัญชาติญี่ปุ่นกำลังปรับโครงสร้างการใช้แรงงานคนในโรงงานของตัวเองที่มีอยู่ 3 กลุ่ม คือ แรงงานประจำในโรงงานกับแรงงานที่ทางโรงงาน Outsource ให้ทำด้วยการปรับโครงสร้างขนาดใหญ่ หรือ Restructure คือ เปิดโครงการ Early Retirement แรงงานประจำที่บริษัทหรือโรงงานต้องดูแลตามกฎหมายและสวัสดิการ ตอนนี้บางโรงงานสร้างแรงจูงใจด้วยการยอมจ่ายค่าชดเชยถึง 24 เดือน แก่คนงานเพื่อเอาเครื่องจักรมาแทน

อีกกลุ่มคนงานที่นายจ้างญี่ปุ่นกำลังปรับโครงสร้างคือ กลุ่มSub contract หรือกลุ่มคนงานที่นายจ้างจ้างนอกข้อตกลง หรือจ้างนอกโรงงาน เป็นการจ้างเหมาช่วง กลุ่มแรงงานเหล่านี้นับเป็นกลุ่มใหญ่ที่ต้องยอมรับว่ากฎหมายไทยให้การรองรับมีสถานะเสมือนแรงงานที่อยู่ในโรงงานของนายจ้างไม่ว่าจะเป็นายจ้างญี่ปุ่น หรือไทย แรงงานเหมาช่วง หรือ Subcontract กำลังโดนปรับโครงสร้างเช่นกัน เป็นการปรับโครงสร้างเพื่อให้นายจ้างอยู่รอด

ยิ่งรัฐบาลไทยสนับสนุนเต็มที่ทุกมาตรการทั้งกฎหมาย หรือภาษี สารพัดกับนิคมหรือโรงงานใดที่สนองนโยบาย 4.0 นำเทคโนโลยีมาใช้ ดังนั้น จึงเป็นที่มาว่าทำไมนายจ้างญี่ปุ่น เริ่มปรับโครงสร้างการใช้แรงงาน เพราะก่อนจะเข้าสู่อุตสาหกรรม 4.0 ก็ต้องปลดคนงานก่อน

ส่วนมาตรการป้องกันหรือรองรับว่าแรงงานเหล่านี้จะไปไหนไปทำอะไร ทั้งแรงงานกลุ่มคอปกขาว (White Collar) บรรดามนุษย์เงินเดือนที่ใช้สมองมากกว่ากำลัง หรือกลุ่มคอปกน้ำเงิน (Blue Collar) ที่ใช้กำลังกายมากกว่าสมองจะเอาตัวรอดหรือทางเลือกอย่างไร ด้านรัฐบาลกำลังชื่นชมกับงานเลี้ยงที่ไทยกำลังก้าวเป็นไทยแลนด์ 4.0 ส่วนแรงงานไทยงานเลี้ยงเลิกราไปแล้ว