posttoday

ข้าวสารโมเดล

07 สิงหาคม 2561

สถานที่ท่องเที่ยวอันมีชื่อเสียงอย่าง “ถนนข้าวสาร” แหล่งรวมร้านอาหารและเสียงดนตรียามค่ำคืน

โดย...แสงตะเกียง
 
สถานที่ท่องเที่ยวอันมีชื่อเสียงอย่าง “ถนนข้าวสาร” แหล่งรวมร้านอาหารและเสียงดนตรียามค่ำคืน นับได้ว่าเป็นสถานที่ปักหมุดของเหล่านักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศ ที่ต้องการเดินทางมาเยี่ยมชมดื่มด่ำบรรยากาศความสนุกสนานอย่างน้อยก็สักครั้งในชีวิต
 
ถนนเส้นนี้กำลังถูกจัดระเบียบจากกรุงเทพมหานคร (กทม.) เพื่อให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่เป็นระเบียบ สะอาด ปลอดภัย ให้สมกับเป็นโมเดลสตรีทฟู้ดแห่งหนึ่งของกรุงเทพฯ
 
แต่ด้วยความแออัดของร้านค้าแผงลอยจำนวนมากที่จำหน่ายสินค้า อาทิ ผัดไทย เสื้อผ้า รองเท้า ไปจนถึงของที่ระลึก และร้านสักลาย บ้างก็มีรับจ้างทำหนังสือเดินทางปลอม รวมถึงปัญหากลุ่มรถแท็กซี่ สามล้อ เกสต์เฮาส์การดื่มสุราเปิดเพลงตลอดคืน เด็กเร่ร่อนขอทาน วัฒนธรรมประเพณีที่เสื่อมถอย ปัญหาขยะมูลฝอยไร้ระเบียบ ทั้งหมดนี้เป็นปัญหาซุกซ่อนไว้ใต้พรมมายาวนาน
 
โดยเฉพาะเรื่องของร้านค้าหาบเร่แผงลอย รุกล้ำขึ้นมาตั้งกีดขวางทางเท้า ยึดครองจับจองจนกลายเป็นความชินชาของผู้พบเห็น บีบบังคับให้นักท่องเที่ยวเข้าใจไปเองว่า ถนนเส้นนี้ปิดการจราจรเพื่อให้คนเดินบนถนนได้ ทั้งที่ความจริงแล้วไม่ใช่
 
นานวันเข้าจึงหยิบยกความว่า “เสน่ห์” ขึ้นมาเป็นฉากกลบเกลื่อนพฤติกรรมฉวยโอกาสรุกล้ำทางเท้าทุกครั้งที่เจ้าหน้าที่เทศกิจปฏิบัติหน้าที่กวดขันวินัย
 
แล้วจะยอมรับได้อย่างไรเมื่อพบว่า ผู้ค้าแผงลอย 1 คน ได้ครอบครองแผงค้าถึง 8 แผง ใช้แรงงานต่างด้าวมาเป็นลูกมือ ค้าขายได้กำไรแบบไม่ต้องเสียภาษีแม้แต่บาทเดียว เป็นเช่นนี้จะเสรีกับผู้ค้าคนอื่นๆ ที่อยากมาค้าขายบนถนนข้าวสารอย่างนั้นหรือ สุดท้ายก็กลายเป็นมาเฟียเจ้าถิ่นในที่สุด
 
ต้องทำความเข้าใจก่อนว่าความหมายของ “เสน่ห์” ในทางท่องเที่ยวคือ เอกลักษณ์ไทย รากเหง้าที่หล่อหลอมสร้างความเจริญให้ประเทศ แตกต่างจาก “หาบเร่” คือ วิถีการทำมาค้าขายของผู้มีรายได้น้อย
 
แต่ผู้ค้าบนถนนข้าวสารไม่ใช่ผู้มีรายได้น้อย เพราะมีรายได้ต่อวันมากกว่ามนุษย์เงินเดือนหลายเท่านัก และหลายต่อหลายครั้งที่มีการจัดระเบียบถนนข้าวสาร จะพบเห็นข้ออ้างเรื่องความยากจน ทำมาหากินเลี้ยงชีพ เลี้ยงครอบครัวเป็นแบบนี้อยู่ตลอด
 
แน่นอนว่าใครก็ตามที่บดบัง กีดขวางทางเท้าประการใดทั้งปวงย่อมกระทำผิดต่อหลักการความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง
 
ดังนั้น เมื่อวันที่ 1 ส.ค.ที่ผ่านมา ถือเป็นดีเดย์ของการจัดระเบียบครั้งสำคัญบนถนนข้าวสาร สุดท้ายเป็นไปตามคาดเกิดแรงต่อต้านจากกลุ่มผู้ค้าที่เสียผลประโยชน์ โวยวายเจ้าหน้าที่เพราะตัวเองกำลังจะสูญเสียตำแหน่งที่ตั้งของร้านที่ยึดครองมายาวนาน
 
เมื่อพิจารณารูปแบบการจัดระเบียบของ กทม. เป็นเช่นไรก็พบว่า กทม.ไม่ได้ใจไม้ไส้ระกำเสียที่ไหน ยังคงอนุญาตให้ทำการค้าขายต่อไปได้แต่ไม่ยอมให้ขึ้นไปตั้งร้านบนทางเท้า ซึ่งจะให้ลงมาตั้งบนถนนจากนั้นกำหนดช่วงเวลาทำการค้าตั้งแต่ 18.00-24.00 น. ของทุกวัน 
 
จากนั้นแบ่งกลุ่มประเภทเสื้อผ้า กระเป๋า จัดให้ขายฝั่งถนนจักรพงษ์ ส่วนอาหารให้ขายฝั่งถนนตะนาว ขณะที่ถนนรามบุตรี ไม่อนุญาตให้ตั้งร้านค้าตลอดเส้นทาง พร้อมกันนี้ยังได้ตั้งจุดกองอำนวยความสะดวก รักษาความปลอดภัยด้วย
 
ถ้าทำให้เป็นระเบียบได้ ถนนข้าวสารจะกลายเป็นโมเดลสตรีทฟู้ดที่สวยงามมีความปลอดภัยอย่างแท้จริง ดังนั้นอย่าปล่อยให้ใครมารุกล้ำทางเท้าโดยไม่สนใจกฎหมาย และใช้กฎหมู่บังคับให้สังคมต้องยอมรับแบบไม่เป็นใจ