posttoday

อยู่แบบเดิมไม่ได้แล้ว

02 สิงหาคม 2561

เสียงเพรียกหาการปฏิรูปตำรวจดังขึ้นอีกครั้ง หลังจากหลายคดีที่เป็นข่าวถูกระบุว่า ต้นธารของกระบวนการยุติธรรม

โดย...กาคาบข่าว

เสียงเพรียกหาการปฏิรูปตำรวจดังขึ้นอีกครั้ง หลังจากหลายคดีที่เป็นข่าวถูกระบุว่า ต้นธารของกระบวนการยุติธรรม หมายถึงการทำงานในชั้นสอบสวนของตำรวจมีปัญหา แม้จะมีบางเสียงบอกว่า นั่นเป็นเพียงส่วนน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับความยุติธรรมที่ธำรงไว้ได้เสมอมา แต่ไหนเลยจะปฏิเสธได้ว่า ความยุติธรรมนั้นเป็นเรื่องที่ต้องมีอุดมคติพิเศษกว่าเรื่องอื่นๆ ที่จะทำลายศรัทธาประชาชนไม่ได้แม้แต่กระผีกเดียว ทุกรายละเอียดจำต้องเล็งผลลัพธ์อย่างไร้รอยบากบิ่น จะมีคนผิดลอยนวล หรือผู้บริสุทธิ์ถูกลงโทษแม้เพียงคนเดียวไม่ได้

แต่สิ่งที่แย่กว่านั้นก็เกิดขึ้นแล้ว เมื่อข่าวบอกว่า มีตำรวจบางนายถึงกับไล่เหยื่อผู้เสียหายให้ไปหาพยานหลักฐานที่จะเอาผิดผู้ต้องสงสัยคู่กรณีเอง ชะตากรรมในทำนองนี้คือเสียงสะท้อนไปถึงหน้าที่การงานของเจ้าหน้าที่ เรื่องทุกข์ร้อนของประชาชนทำนองนี้ พึ่งพาตำรวจไม่ได้แล้วจะพึ่งใครได้ครับ

ไหนจะคดีชายกระโดดตึกศาลอาญา หลังรู้ว่าคดีลูกชายถูกฆ่าตายแล้วศาลยกฟ้อง เรื่องนี้ก็เป็นอีกเรื่องที่ต้องย้อนไปถึงต้นธารของกระบวนการยุติธรรม ย้อนไปถึงพนักงานสอบสวนที่ทำคดีไม่รอบคอบ สังคมตั้งคำถามว่า เรื่องนี้เกิดขึ้นเพราะขาดการรวบรวมพยานหลักฐานที่ชัดเจนจนต้องยกฟ้องหรือไม่

ตลอดเวลาที่ผ่านมา เราได้ยินแนวคิดเรื่องการปฏิรูปในทำนองว่า จะต้องปฏิรูปโครงสร้างและระบบการทำงานโดยลดบทบาทจากส่วนกลาง แต่เพิ่มบทบาทและอำนาจหน้าที่ให้กับหน่วยปฏิบัติในพื้นที่ให้มากขึ้น โดยเฉพาะการปรับในระดับจังหวัด เพราะจะทำให้ง่ายต่อการสนองตอบในพื้นที่ต่างๆ

ที่กล่าวมา ฟังดูเป็นอุดมคติที่ดีนะครับ หลายคนคิดฝันถึงแนวทางนี้ เหมือนเห็นภาพจากหนังฮอลลีวู้ดที่นำเสนอเรื่องราวของตำรวจท้องถิ่นที่ต้องทำงานสอดรับกับการเมืองท้องถิ่น ถ้าการเมืองท้องถิ่นทำงานไม่เข้าเป้า ตำรวจก็เสี่ยงตกงาน แล้วลองเอาภาพฝันนั้นมาทาบทับกับความจริงที่เป็นอยู่ในบ้านเราสิครับ สิ่งที่สวยหรูก็จะถูกสารพัดปัญหาฝังกลบทำลายไปในพริบตา

หรือแนวคิดให้ภาคส่วนต่างๆ เข้ามามีส่วนร่วมในการกำกับดูแลหน่วยงานตำรวจ ผู้แทนจากคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรม อัยการ สภาทนายความ ฯลฯ

หรือตั้งหน่วยงานศึกษา วิเคราะห์ข้อมูล หรือข่าวสารต่างๆ เพื่อวัดผลหรือติดตามการทำงานของตำรวจ และความต้องการของประชาชนในพื้นที่ ไม่ใช่กำหนดให้ส่วนกลาง ซึ่งรู้เรื่องราวความเป็นไปในท้องถิ่นไม่ดีพอ หรือแทบจะไม่เคยรับรู้ความเป็นไปเลย เป็นผู้ประเมิน ต้องออกแบบกลไกการตรวจสอบที่น่าเชื่อถือซึ่งเป็นคนนอก

แน่นอนว่าแนวทางการปฏิรูปที่กล่าวมาเป็นอุดมคติ เกิดขึ้นยาก และหากเป็นไปไม่ได้ การปฏิรูปตำรวจทำท่าจะเหมือนการปฏิรูปข้าราชการอื่นๆ คือ กฎเกณฑ์ที่ออกมาใหม่ ไม่อยากแตะต้องตัวบุคคล ไม่อยากขันนอตข้าราชการ คาดโทษผู้บริหารหรือผู้บังคับบัญชาที่เกียร์ว่าง หรือบริหารงานผิดพลาด ทั้งที่ทราบกันดีว่าเป็นปัจจัยสำคัญอย่างยิ่ง แก้บุคคลไม่ได้ก็อย่าได้หวังว่าการปฏิรูปจะสำเร็จ

รัฐบาลต้องไม่ลืมว่า ภาคส่วนอื่นๆ โดยเฉพาะเอกชนนั้นเริ่มปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัยที่มาพร้อมกับพายุความเปลี่ยนแปลงที่พัดมาลูกแล้วลูกเล่า ปรับตัวให้เข้ากับประชากรวัยเรียนที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง ปรับตัวเตรียมรับมือกับโลกที่หุ่นยนต์จะมาเป็นแรงงานแทนคนที่ถูกผลิตจากสถาบันการศึกษา โดยไม่หวั่นว่าตัวเองจะได้รับผลกระทบตามมาแค่ไหน แล้วระบบราชการจะยังอยู่แบบเดิมได้อีกเหรอครับ