posttoday

สัจธรรมที่สารนาถ

27 กรกฎาคม 2561

วันนี้เป็นวันอาสาฬหบูชา วันพระใหญ่ทางพุทธศาสนา เป็นวันแห่งการปรากฏขององค์ 3 ได้แก่พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์

โดย...ณ กาฬ เลาหะวิไลย

วันนี้เป็นวันอาสาฬหบูชา วันพระใหญ่ทางพุทธศาสนา เป็นวันแห่งการปรากฏขององค์ 3 ได้แก่พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์

พระพุทธเจ้าทรงแสดงพระธัมมจักกัปปวัตตนสูตร จนท่านโกณฑัญญะสำเร็จพระโสดาบันเป็นปฐมพระอริยบุคคล และได้รับประทานเอหิภิกขุอุปสมบทเป็นภิกษุองค์แรก

หลักฐานการปรากฏของพระรัตนตรัยในครั้งนั้น มีทั้งพระธรรมเทศนาที่ยังคงสืบต่อจนถึงปัจจุบัน และรวมถึงสถานที่แห่งการประกาศพระศาสนา คือ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน หรือ สารนาถ ในปัจจุบัน

ใครที่เคยไปสารนาถก็จะพบกับ ธรรมเมกขสถูป เป็นพุทธสถานขนาดใหญ่ อันเป็นจุดที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนาประกาศพระสัจธรรมเป็นครั้งแรก

นอกจากนั้นยังมี เจาคันธีสถูป อยู่ไม่ไกลจากสารนาถ เป็นมหาสถูปที่สร้างขึ้นเพื่อระลึกถึงสถานที่พำนักของเหล่าปัญจวัคคีย์ และเป็นสถานที่พระพุทธเจ้าเสด็จมาทรงพบกับเหล่าปัญจวัคคีย์ ก่อนที่จะแสดงปฐมเทศนาในสารนาถ 

สารนาถ ยังสะท้อนถึงความไม่เที่ยง ความแปรปรวนให้เห็น เริ่มตั้งแต่ความจำเริญรุ่งเรือง โดยในหลังพุทธกาลประมาณ 300 ปี พระเจ้าอโศกมหาราชได้เสด็จมาที่สารนาถใน พ.ศ. 295 และทรงรับเป็นองค์อุปถัมภ์บูรณะ ก่อสร้างศาสนสถานเพิ่มเติม 

ตามบันทึกของพระถังซำจั๋ง ​ซึ่งได้จาริกมาราว พ.ศ. 1280 ได้บรรยายว่า ท่านได้พบสังฆารามใหญ่โต มีพระอยู่ประจำ 1,500 รูป ภายในกำแพงมีวิหารหลังหนึ่งสูงกว่า 33 เมตร มีบันไดทางขึ้นปูด้วยแผ่นหินกว่า 100 ขั้น กำแพงบันไดก่อด้วยอิฐเป็นขั้นๆ ประดับด้วยพระพุทธรูปปางปฐมเทศนา

ทางด้านตะวันตกเฉียงใต้ของวิหารมีสถูปหินอ่อนสูง 70 ฟุต หรือเสาอโศก บนยอดเสามีรูปสิงห์ 4 ตัวเป็นมันวาวราวกับหยกใสสะท้อนแสง มหาธรรมเมกขสถูป มีพระพุทธรูปทองคำประดิษฐานอยู่ทุกช่อง ฯลฯ

อย่างไรก็ตาม สารนาถ เสื่อมโทรมลง จากการที่กองทัพมุสลิมเตอร์กบุกทำลายใน พ.ศ. 1737  ถูกทิ้งร้างไปอย่างสิ้นเชิง เป็นเวลากว่า 700 ปี กลายเป็นกองดินกองอิฐมหึมา 

ชาวบ้านได้เข้ามารื้ออิฐจากสารนาถไปก่อสร้างอาคารในเมืองพาราณสีเป็นระยะๆ แม้แต่ราชาเชตสิงห์ (Chait Singh) มหาราชาแห่งเมืองพาราณสี ได้สั่งให้ไปรื้ออิฐเก่าจากสารนาถนำไปสร้างตลาดในเมืองพาราณสี 

จนเมื่ออินเดียตกไปอยู่ในความปกครองของอังกฤษ รัฐบาลอังกฤษต้องตั้งเจ้าหน้าที่มาขุดค้นอย่างถูกต้องตามหลักโบราณคดี ซึ่งใช้เวลากว่าร้อยปีจึงจะขุดค้นสำเร็จใน พ.ศ. 2465 ในสมัยที่ เซอร์ อเล็กซานเดอร์ คันนิ่งแฮม เป็นหัวหน้ากองโบราณคดีอินเดีย

จนช่วงหลังที่ท่านอนาคาริก ธรรมปาละ ชาวศรีลังกา ได้มาบูรณะสังเวชนียสถานในอินเดีย และฟื้นฟูสารนาถอีกครั้ง โดยได้ซื้อที่เพื่อสร้างวัดมูลคันธกุฏีวิหาร ซึ่งนับเป็นวัดพระพุทธศาสนาแห่งแรกในบริเวณสารนาถหลังจากถูกทำลาย

หลังจากนั้นเป็นต้นมา สารนาถได้รับการบูรณะจากรัฐบาลอินเดียเรื่อยมา จนเป็นสังเวชนียสถานที่สำคัญของชาวพุทธ

ไปสารนาถจึงไม่เพียงเห็นสถานที่ ระลึกถึงพระธรรมนับแต่ปฐมเทศนา

แต่ยังได้เห็นสัจธรรม อนิจจังแปรเปลี่ยนอย่างประจักษ์ใจ