posttoday

ธนาคารต้นไม้ให้สุดซอย

26 กรกฎาคม 2561

ต้องตีมือรัวๆ ให้เมื่อที่ประชุม ครม.สัญจร จ.อุบลราชธานี เห็นชอบให้ออกกฎกระทรวงฉบับใหม่ ภายใต้ พ.ร.บ.หลักประกันทางธุรกิจ พ.ศ. 2558

โดย...ณ กาฬ เลาหะวิไลย

ต้องตีมือรัวๆ ให้เมื่อที่ประชุม ครม.สัญจร จ.อุบลราชธานี เห็นชอบให้ออกกฎกระทรวงฉบับใหม่ ภายใต้ พ.ร.บ.หลักประกันทางธุรกิจ พ.ศ. 2558 เปิดทางให้นำไม้ยืนต้นที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจมาเป็นหลักประกันทางธุรกิจ เพื่อกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงิน

ต้นไม้ที่สามารถนำมาค้าประกันได้ ต้องอยู่ภายใต้บัญชีท้ายกฎหมายว่าด้วยสวนป่าจำนวน 58 ชนิด

ตัวอย่างเช่น ไม้สกุลมะม่วง ไม้สกุลทุเรียน ไม้สกุลยาง มะขามป้อม ไผ่ทุกชนิด ไม้สัก พะยูง ชิงชัน ประดู่ มะค่า เต็ง รัง ตะเคียน สะเดา  นางพญาเสือโคร่ง ปีบ ตะแบกนา ไม้สกุลจำปี กัลปพฤกษ์ ราชพฤกษ์ หว้า จามจุรี กฤษณา และไม้หอม เป็นต้น

กระทรวงพาณิชย์เป็นผู้ผลักดันเรื่องดังกล่าว โดยเป็นผลจากคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสังคมเตรียมผลักดันการสร้างชุมชนเข้มแข็ง ให้ประชาชนปลูกต้นไม้ยืนต้นมูลค่า ในที่ดินกรรมสิทธิ์เป็นการออมและสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจด้วย

อีก 2 สัปดาห์ ต่อจากนี้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จะเสนอแก้ พ.ร.บ.ป่าไม้ ในมาตรา 7 ให้ประชาชนที่ปลูกไม้ยืนต้นในพื้นที่ของตนเองสามารถตัดไม้ไปขายได้ หรือสามารถเปลี่ยนเป็นเงินได้

ทั้งหมดจะช่วยในการสร้างพื้นที่ป่าและสามารถปลูกต้นไม้เป็นมรดกให้ลูกหลาน

ขั้นตอนถัดไปสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาจะรับร่างกฎกระทรวงฉบับดังกล่าวไปตรวจพิจารณา แล้วเสนอให้ที่ประชุม ครม. เพื่อทราบ หากไม่มีข้อทักท้วงใดๆ ก็ให้ถือเป็นมติ ครม.ตามที่เสนอ

ความจริงแล้วเรื่องการนำต้นไม้เป็นหลักประกันมีการผลักดันอย่างเนิ่นนาน ถือเป็นการสร้างทุนทางเศรษฐกิจและสังคมให้กับประชาชน โดยเรียกกันว่า ธนาคารต้นไม้คล้ายการเก็บออมเงินทองไว้ในธนาคาร ทุกวันที่ต้นไม้เติบโตมูลค่าทางเศรษฐกิจก็เพิ่มขึ้น

ข้อมูลที่มีการเผยแพร่ก็คือ ต้นไม้เศรษฐกิจให้มูลค่าเพิ่มอย่างต่ำ 1 บาท/ต้น/วัน หากปลูกทิ้งไว้ 20 ปี ก็จะมีรายได้ประมาณ 7,300 บาท/ต้น หรืออาจมากกว่านี้ 

อย่างไรก็ตาม หากรัฐบาลต้องการผลักดันให้เกิดการปลูกต้นไม้ และสามารถนำมาค้ำประกันเงินกู้ได้ก็ควรจะต้องให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ รับเป็นโต้โผหลักในกระบวนการทั้งหมด เพื่อให้เกิดการยอมรับ ใช้ต้นไม้เป็นหลักทรัพย์ได้มากขึ้น

ตัวอย่างที่เคยเกิดขึ้นแล้วก็คือ เมื่อครั้งมีการผลักดัน แก้ไขให้ใช้ทรัพย์สินทางปัญญา ได้แก่ ลิขสิทธิ์ สิทธิบัตร เครื่องหมายการค้า ความลับทางการค้า เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันได้

แต่ในทางปฏิบัติจริงสถาบันการเงินจำนวนมาก ก็ไม่รับทรัพย์สินทางปัญญาเหล่านี้มาเป็นหลักทรัพย์ในการค้ำประกัน เนื่องจากมีความเสี่ยงในแง่มูลค่าโดยเฉพาะราคาในอนาคต

การนำต้นไม้มีค่ามาเป็นหลักทรัพย์ก็เช่นกัน หากต้องการให้จุดติดและเดินหน้าอย่างรวดเร็ว ก็จำเป็นต้องมีหัวหมู่ทะลวงฟัน ใช้สถาบันการเงินของรัฐ รับอาสาทำหน้าที่ไปก่อน

ไหนๆ ทำแล้ว ก็ทำให้สุดซอย

จะยกมืออนุโมทนาสาธุให้เลย