posttoday

ทำให้สอดคล้อง

24 กรกฎาคม 2561

ถนนแจ้งวัฒนะกลายเป็นพื้นที่เกิดปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก ได้สร้างผลกระทบต่อการจราจรในบริเวณดังกล่าว

โดย...แสงตะเกียง

ถนนแจ้งวัฒนะกลายเป็นพื้นที่เกิดปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก ได้สร้างผลกระทบต่อการจราจรในบริเวณดังกล่าว บานปลายถึงขั้นสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจ เพราะพื้นที่แห่งนี้ได้รับการพัฒนาให้เป็นแหล่งที่อยู่อาศัย หมู่บ้าน คอนโดมิเนียม อาคารสำนักงาน ห้างสรรพสินค้า ไปจนถึงศูนย์จัดแสดงกิจกรรมสำคัญของประเทศ

แต่ด้วยการพัฒนาถนนแจ้งวัฒนะที่เกิดขึ้นทุกขณะ มีสิ่งหนึ่งที่ยังไม่ได้ปรับปรุงพัฒนาตามให้สอดคล้องกัน นั่นคือระบบระบายน้ำทิ้งจากแหล่งชุมชนออกสู่ช่องทางระบายน้ำหลัก เกิดจากปัญหาพื้นที่เชื่อมต่อหลายหน่วยงาน เช่น กรมทางหลวง กรุงเทพมหานคร และ จ.นนทบุรี ฯลฯ ว่าใครควรรับผิดชอบทำอะไรก่อนและหลัง ปัจจัยเหล่านี้จึงเป็นต้นตอของปัญหาน้ำท่วมขังอย่างที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม นับว่าเป็นข่าวดีสำหรับคนย่านแจ้งวัฒนะ เพราะกรมทางหลวงได้เปิดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนในพื้นที่มาแล้ว 3 ครั้ง และสรุปผลเพื่อนำไปดำเนินการแก้ปัญหานี้ โดยเตรียมเดินหน้าโครงการวางท่อระบายน้ำบนถนนทางหลวงหมายเลข 304 (แจ้งวัฒนะ) ครอบคลุมพื้นที่ 2 จังหวัด 3 อำเภอ/เขต ประกอบด้วย เขตบางเขน เขตหลักสี่ ในพื้นที่กรุงเทพฯ และ อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี

แบ่งโครงการออกเป็น 4 ช่วง ประกอบด้วย 1.แม่น้ำเจ้าพระยา-ห้าแยกปากเกร็ด ระบายน้ำไปลงยังคลองบางตลาด เพื่อสูบต่อไปยังแม่น้ำเจ้าพระยา โดยตั้งแต่คลองบางตลาดถึงถนนติวานนท์ ทำการขุดวางท่อระบายน้ำขนาดใหญ่ใต้ผิวการจราจร และตั้งแต่ถนนติวานนท์ถึงเชิงสะพานพระราม 4 ก่อสร้างด้วยการดันท่อลอด

ช่วงที่ 2 เชิงสะพานพระราม 4-คลองประปา ก่อสร้างด้วยวิธีดันท่อลอดสลับกับวิธีขุดวางท่อระบายน้ำขนาดใหญ่ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 2.3 เมตรใต้ผิวการจราจร ช่วงที่ 3 คลองประปา-ถนนวิภาวดีรังสิต ตั้งแต่คลองประปาถึงเชิงสะพานข้ามคลองประปา ใช้ท่อระบายน้ำเดิม จากนั้นตั้งแต่ช่วงเชิงสะพานข้ามคลองประปา ทำการขุดวางท่อวางขนาดใหญ่ไปจนถึงห้างสรรพสินค้าบิ๊กซีสาขาแจ้งวัฒนะ แล้วเปลี่ยนมาใช้วิธีดันท่อลอดไปจนถึงกรมการกงสุล จึงกลับมาใช้วิธีขุดวางท่อเช่นเดิมไปจนถึงคลองเปรมประชากร

และช่วงที่ 4 ถนนวิภาวดีรังสิต-วงเวียนหลักสี่ ตั้งแต่ถนนวิภาวดีรังสิตถึงเชิงสะพานข้ามถนนวิภาวดีรังสิต ใช้ท่อเดิม จากนั้นขุดวางท่อขนาดใหญ่ไปสิ้นสุดถนนวิภาวดีรังสิต ถึงสะพานข้ามคลองแล้วจึงดำเนินการปรับปรุงท่อระบายน้ำเดิมไปยังวงเวียนหลักสี่

ขณะที่ผลกระทบด้านอากาศ เสียง และความสั่นสะเทือนจากเครื่องจักรอาจมีการฟุ้งกระจายของฝุ่นละออง เสียงรบกวนต่อประชาชนใกล้เคียง ใช้มาตรการฉีดน้ำพรมพื้นที่ก่อสร้างลดการฟุ้งกระจายวันละ 2 ครั้ง กำหนดช่วงเวลาก่อสร้างตั้งแต่เวลา 08.00-17.00 น. ป้องกันเสียงรบกวนชุมชน แต่สำหรับกิจกรรมดันท่อลอดจำเป็นต้องทำในเวลากลางคืน พร้อมติดตั้งกำแพงกันเสียงชั่วคราวแบบแผ่นโลหะความสูง 2 เมตร

ผลกระทบด้านคมนาคม เนื่องจากจำเป็นต้องปิดพื้นที่เกาะกลางถนนแจ้งวัฒนะ 1 ช่องจราจร จึงหลีกเลี่ยงขนอุปกรณ์ในช่วงเวลาเร่งด่วนตั้งแต่เวลา 07.00-10.00 น. และช่วงเวลา 16.00-19.00 น. บริษัทรับเหมาต้องดูแลจัดเก็บอุปกรณ์และเครื่องจักรให้เรียบร้อยไม่กีดขวางจราจร

ท้ายที่สุด แม้ว่าโครงการนี้ยังไม่ได้กำหนดวันเริ่มก่อสร้าง แต่เชื่อแน่ว่าย่านเศรษฐกิจสำคัญอีกแห่งหนึ่งของประเทศกำลังได้รับการพัฒนาอย่างเป็นระบบ เรื่องนี้ถือได้ว่าเป็นบทเรียนสำคัญที่ทำให้ทุกหน่วยงานต้องตระหนักถึงการวางแผนพัฒนาพื้นที่ให้สอดคล้องกันเป็นองค์รวม เพื่อไม่ให้กระทบประชาชนเหมือนที่เป็นอยู่ทุกวันนี้