posttoday

ผลงาน

13 กรกฎาคม 2561

เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวไว้ตอนหนึ่ง ในทำนองว่า นับถอยหลังจากนี้ไปพี่น้องประชาชนจะได้เห็นผลงานรัฐบาล 10 เรื่องเด่น

โดย...นาย ป. 

เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวไว้ตอนหนึ่ง ในทำนองว่า นับถอยหลังจากนี้ไปพี่น้องประชาชนจะได้เห็นผลงานรัฐบาล 10 เรื่องเด่น

...นาย ป. ...นั่งนึกสาเหตุที่บิ๊กตู่หยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมา ดูใกล้เคียงกับห้วงเวลาก่อนการเลือกตั้ง ซึ่งก็เหลือเวลา 8 เดือนเท่านั้นเอง 

ก่อนหน้านี้ “บิ๊กตู่” เคยสั่งการให้รัฐมนตรี และทุกกระทรวง ทบวง กรม เร่งดำเนินการให้เห็นผลงานเป็นรูปธรรม  สรุปออกมาประมาณนี้ 1.ปฏิรูปตำรวจ 2.ปฏิรูปการศึกษา 3.การจัดหาที่ดินทำกินให้กับประชาชนผู้มีรายได้น้อย 4.การบริหารจัดการขยะทั่วประเทศ โดยทุกจังหวัดต้องมีการบริหารจัดการขยะที่ถูกกฎหมาย

5.การบริหารราชการแผ่นดิน หรือปฏิรูประบบราชการ โดยสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) เป็นแม่งานหลักในการเร่งงานระบบการแต่งตั้งโยกย้าย หรือการบรรจุข้าราชการเข้าใหม่ พร้อมให้ดูแลเรื่องเงินเดือน และเร่งรัดนโยบายปรัดลดจำนวนข้าราชการให้สอดคล้องกับสถานการณ์

และ 6.การบริหารจัดการภัยพิบัติ หรืออุบัติเหตุและอุบัติภัยต่างๆ โดยเฉพาะศูนย์บรรเทาภัยพิบัติแห่งชาติ ที่กระทรวงมหาดไทย กับกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเป็นแม่งานหลักต้องสามารถแก้ปัญหาและบูรณาการได้ทุกหน่วยงาน

7.การบริหารจัดการการใช้เครื่องมือในการบรรเทาสาธารณภัยต่างๆ ต้องมีการวางแผนเป็นระบบและเชื่อมโยงกับเอกชนและภาครัฐ โดยเฉพาะการยืมเครื่องมือและอุปกรณ์จากต่างประเทศ หรือระหว่างองค์กร เวลาต้องส่งคืนควรอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์

8.การบริหารจัดการน้ำ แม้จะเป็นแผนระยะยาว แต่เบื้องต้น 8 เดือนจากนี้ไปต้องไปเร่งทำแผนระยะสั้น 9.เร่งรัดโครงการต่างๆ ที่นายกรัฐมนตรีได้ลงพื้นที่ไป และ 10.เตรียมการรับมือสังคมผู้สูงอายุ

ต้องยอมรับว่าแต่ละเรื่องหินๆ ทั้งนั้น เอาเข้าจริงรัฐบาลประยุทธ์จะทำได้สักกี่เรื่อง แค่เรื่องสองเรื่องทำให้เสร็จก็พอแล้ว

อาทิ ปฏิรูปตำรวจกับปฏิรูประบบราชการ เพราะรู้กันอยู่ว่าระบบราชการ ใครต่อใครก็พูดเหมือนกันว่า ระบบราชการไทยทำงานแบบตัวใครตัวมัน หรือกระทรวงใครกระทรวงมัน ไม่มีการบูรณาการการทำงานร่วมกัน อย่าว่าแต่ทำงานระหว่างกระทรวงเลย แม้แต่ภายในกระทรวงเดียวกันยังไม่บูรณาการกันเลย

เพราะหลักการสำคัญในการทำงานของหน่วยงานของรัฐ คือ ต้องยืดหยุ่นและสามารถบูรณาการการทำงานกันได้โดยไม่ต้องไปแก้ไขกฎหมายกันให้ยุ่งยาก แต่ที่ผ่านมา พอพูดเรื่องปฏิรูประบบราชการ มักจะไปจบ หรือ ลงเอยที่ ตั้งหน่วยงานใหม่ ยุบ เลิก หรือควบรวม หรือเปลี่ยนแปลงหน้าที่และความรับผิดชอบของกระทรวงใดกระทรวงหนึ่งสุดท้ายแค่เปลี่ยนชื่อ

แต่พอมาแตะเรื่องโครงสร้างองค์กร ดังเช่นปฏิรูปตำรวจ จะมีกระแสคัดค้านเสมอ ยกหลักการงัดออกมาเพียบ เพราะผู้ได้รับผลกระทบกลัวเสียประโยชน์ แต่ถามว่าประชาชนหรือส่วนรวมได้ประโยชน์อะไรบ้าง มักไม่ค่อยจะพูดถึงกันเลย ยกแต่ข้ออ้างของตัวเองแล้วแบบนี้จะปฏิรูปสำเร็จได้อย่างไร

ไม่ใช่เฉพาะเรื่องนี้ แต่ทุกเรื่องหากการจะเปลี่ยนแปลงหรือจะสร้างผลงานอะไรสักอย่างถ้าคิดถึงแต่คะแนนนิยมหรือผลประโยชน์องค์กรมากกว่าส่วนรวมแล้วจะเรียกว่าผลงานได้อย่างไร