posttoday

สื่อในวิกฤต

28 มิถุนายน 2561

“ข่าวลือนั้นเดินทางเร็วกว่าข่าวจริง” วลีนี้ยังคงเป็นจริงในทุกยุคสมัย ในยุคสมัยใหม่ที่ข้อมูลข่าวสารถูกส่งต่อไปได้รวดเร็วชั่วพริบตา

โดย...กาคาบข่าว

“ข่าวลือนั้นเดินทางเร็วกว่าข่าวจริง” วลีนี้ยังคงเป็นจริงในทุกยุคสมัย ในยุคสมัยใหม่ที่ข้อมูลข่าวสารถูกส่งต่อไปได้รวดเร็วชั่วพริบตา ข่าวลือ ข่าวปล่อย หรือกระทั่งข่าวปลอม ยิ่งเดินทางไปได้อย่างไร้ข้อจำกัด 

โลกโซเชียล โลกออนไลน์ ทำให้ข้อมูลข่าวสารไหลบ่าไปอย่างรวดเร็ว ยิ่งกว่าอุทกภัย ขณะเดียวกันผู้รับข่าวสารเองก็มักจะเชื่อข่าวลือหรือข่าวลวงง่าย เพราะข่าวดังกล่าวมักจะตอบสนองความต้องการ หรือมีเนื้อหาตรงใจ ตรงกับธงที่ตั้งไว้แต่แรก ยิ่งหลายต่อหลายคนเสพข่าวโดยใช้เพียงอารมณ์ความรู้สึกตัดสิน ก็ยิ่งทำให้สถานการณ์ยิ่งเลวร้ายลงไปใหญ่

ยุคที่สื่อมีกระบวนการกลั่นกรองข้อมูลข่าวสาร จรรยาบรรณในการนำเสนอ ก่อนส่งไปถึงผู้เสพข่าว เริ่มที่จะถูกทำลายลง เพราะการแข่งขันทางธุรกิจที่เชี่ยวกรากขึ้นทุกวัน บ่อยครั้งที่สื่อกระแสหลักเอนเอียงตามข่าวปล่อยข่าวลือ จนตั้งคำถามถึงจรรยาบรรณในวิชาชีพ

สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เคยจัดเสวนาวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของสื่อช่วงที่กระแสข่าว ปรียานุช โนนวังชัย หรือเปรี้ยว และพวก ร่วมกันก่อคดีฆ่าหั่นศพ

การเสวนาในครั้งนั้น อาจารย์วรัชญ์ ครุจิต ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายสื่อสารองค์การ สถาบันพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) กล่าวไว้อย่างน่าสนใจว่า ภาพลักษณ์ของสื่อมวลชนในภาพรวมถูกสังคมตีตราและเห็นว่า จมอยู่กับความกลัวว่าจะตกข่าว แทบทุกสื่อมีพฤติกรรมเดียวกัน

“อะไรกระแสแรง ต้องนำเสนอไปก่อน และพยายามขวนขวายหาข้อมูลจากทุกแหล่งมานำเสนอ จมอยู่กับความห่วงเรตติ้ง พยายามขุดประเด็นมานำเสนอ ยื้อข่าวให้โหนกระแสให้มากที่สุด”

สื่อถูกมองด้วยว่าเสพติดดราม่า ขณะที่สื่อต่างประเทศรายงานข่าวอย่างตรงไปตรงมา สื่อไทยกลับพยายามสร้างข่าวให้เกิดการดราม่า เช่น ถ้อยคำขยาย เพิ่มเติม เสริมใส่อารมณ์ความรู้สึกไปมาก โดยเฉพาะการพาดหัวล่อเป้า ให้คนเข้ามาด่าเพื่อเรียกยอดคนเข้ามาดู

นอกจากนี้ ยังมองด้วยว่า ตกอยู่ในสภาพควบคุมตัวเองไม่ได้ แม้รู้ว่าข่าวดังกล่าวไม่ดี แต่ยังคงนำเสนอต่อไป ไม่ใช่เพียงตัวผู้สื่อข่าว รวมถึงตัวองค์กรอีกด้วย กรอบจริยธรรมเองก็มีปัญหา ไม่รู้เส้นขอบเขตว่าอะไรที่ทำได้หรือไม่ได้ 

สถานการณ์การช่วยเหลือโค้ชและนักฟุตบอลเยาวชนทีมหมูป่า 13 ชีวิต ที่ติดอยู่ภายในวนอุทยานถ้ำหลวง ขุนน้ำนางนอน สะท้อนถึงปัญหาข่าวลือและการทำงานของสื่อมวลชนในช่วงวิกฤตได้ดี หลายสำนักข่าวรายงานสิ่งที่เกิดขึ้นโดยมิได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่างรอบคอบแต่อย่างใด
ข่าวในแพลตฟอร์มต่างๆ ของสำนักเดียวกันนำเสนอไปกันคนละทาง เน้นเร็วกว่าคู่แข่ง นำเสนอไปก่อน แล้วค่อยแก้ภายหลัง

ยังไม่นับถึงกาลเทศะในการทำงาน ทุกครั้งที่มีเหตุการณ์สำคัญ ต้องมีสื่อที่ใช้อภิสิทธิ์ที่มีความใกล้ชิดกับผู้ใหญ่ในหน่วยงานต่างๆ ล้ำเส้น การทำงาน เพื่อจะได้มีเนื้อหาแตกต่างจากคนอื่น แน่นอนการมีเนื้อหาที่แตกต่างจากคนอื่นเป็นเรื่องที่ดี หากสิ่งที่ได้มานั้นไม่ได้ละเมิดจริยธรรมในการทำงาน

กรณีช่วยเหลือโค้ชและนักฟุตบอลเยาวชนทีมหมูป่า ทีนทอล์กอะคาเดมี่ 13 ชีวิต เจ้าหน้าที่ถึงกับต้องออกปากห้ามสื่อมวลชน ว่า อย่าถามญาติในคำถามที่อาจเป็นการจี้จุดกระตุ้นให้เกิดอาการซึมเศร้าขึ้น โดยพบอีกว่าสื่อบางรายถึงกับปลุกญาติของเด็กให้ขึ้นมาพูดคุยทั้งๆ ที่กำลังจะเคลิ้มหลับ และอยู่ในสภาพอิดโรย

สื่อมวลชนมักจะเรียกร้องการปฏิรูปเรื่องต่างๆ แต่กลับไม่เคยสนใจปฏิรูปตัวเองนัก