posttoday

ไม่คุ้มเสี่ยง

26 มิถุนายน 2561

ข่าวการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน โดยเฉพาะรถโดยสารประจำทางสาธารณะ อาทิ รถตู้ รถทัวร์

โดย...แสงตะเกียง 

ข่าวการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน โดยเฉพาะรถโดยสารประจำทางสาธารณะ อาทิ รถตู้ รถทัวร์ ได้คร่าชีวิตของประชาชนไปแล้วเป็นจำนวนมาก ซึ่งส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากการใช้ความเร็วเกินกำหนดและความไม่พร้อมของร่างกายผู้ขับ

นำมาสู่มาตรการติดตั้งระบบ “จีพีเอส” ในรถโดยสารเพื่อเพิ่มความปลอดภัย ด้วยการจำกัดความเร็ว ตลอดจนบทลงโทษที่ถูกบังคับใช้อย่างเข้มงวดต่อผู้ฝ่าฝืนและผู้ประกอบการ ทำให้จำนวนการกระทำความผิดในกลุ่มรถตู้ลดลงกว่า 50% จากเดิมกระทำความผิดมากถึงจำนวน 60 ครั้ง/เดือน

โดยระบบจีพีเอสที่ถูกติดตั้งในรถสาธารณะให้บริการวิ่งรับส่งผู้โดยสารและขนส่งสินค้าระหว่างจังหวัด มีจุดมุ่งหมายเพื่อจำกัดความเร็วและควบคุมความพร้อมของผู้ขับขี่ ซึ่งกำหนดให้ความเร็วไม่เกินกว่า 90 กิโลเมตร/ชั่วโมง หากความเร็วเกินเป็นเวลานานกว่า 2 นาที คิดเป็น 1 ความผิด ส่วนการควบคุมด้านความพร้อมของคนขับ กฎหมายระบุว่าห้ามขับเกินกว่า 4 ชั่วโมง และต้องพักอย่างน้อย 30 นาที หรือในรอบ 24 ชั่วโมงห้ามขับรวมกันเป็นเวลาเกิน 10 ชั่วโมง

ในแง่ความเป็นจริง ระบบควบคุมความเร็วไม่ได้จำกัดถนนทุกสายห้ามขับเร็วเกิน 90 กิโลเมตรทั้งหมด เช่น ถนนระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) อนุญาตให้ใช้ความเร็วได้ถึง 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง เพราะเป็นเส้นทางปิด ไม่มีทางแยก ไม่มีจุดกลับรถ จึงไม่มีปัจจัยเสี่ยงที่อาจเกิดอุบัติเหตุได้

ขณะที่ถนนทางหลวงต้องควบคุมไม่เกิน 90 กิโลเมตร/ชั่วโมง เพราะเชื่อมโยงกับเส้นทางของชุมชน ดังนั้นระบบจึงเปิดโอกาสให้รถเร่งแซงรถช้ากว่าได้ ซึ่งค่าเฉลี่ยระยะเวลาเร่งแซงพบว่าไม่เกิน 30 วินาที แต่หากความเร็วเกินเป็นเวลา 2 นาทีก็แสดงความจงใจทำผิดกฎหมายชัดเจน

เมื่อเจาะลึกไปที่ข้อมูลของกรมการขนส่งฯ พบว่า มีผู้ประกอบการบางรายพยายามปรุงแต่งข้อมูล เช่น ใช้ความเร็วเกินกำหนดผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ปิดบังข้อมูลความจริง อีกส่วนคือใช้อุปกรณ์ปิดบังสัญญาณจีพีเอส อย่าคิดว่ากรมการขนส่งฯ เขาไม่รู้ เนื่องจากข้อมูลไม่ต่อเนื่อง ซึ่งรถไม่สามารถหายตัวได้

มาที่ฝั่งของผู้ประกอบการรถโดยสารท้วงติงว่า การกำหนดความเร็วของรถนั้นต่ำ ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง เนื่องจากข้อกำหนดตั้งไว้ที่ความเร็วไม่เกิน 90 กิโลเมตร/ชั่วโมง ช้าเกินไปจึงควรเปลี่ยนมาเป็นไม่เกิน 110 กิโลเมตร/ชั่วโมง ซึ่งความเร็วระดับนี้ยังอยู่ในวิสัยผู้ขับขี่จะสามารถตื่นตัวต่ออุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นได้

ผู้ประกอบการยังสะท้อนปัญหาเชิงลึกไปที่ระบบจีพีเอสยังไม่เสถียร เนื่องจากบางครั้งใช้งานไม่ได้ หรือข้อมูลไม่ตรงความเป็นจริง เช่น ผู้ขับไม่ได้ใช้ความเร็วเกิน 90 กิโลเมตร แต่ข้อมูลแจ้งว่าใช้ความเร็วไป 100 กว่ากิโลเมตร เมื่อกรมการขนส่งฯ ตรวจสอบตำแหน่งสถานที่ พบว่าข้อมูลจีพีเอสผิดจริง อีกส่วนคือจำนวนรอบวิ่งน้อยเกินไปทั้งที่ความจริงในช่วงเทศกาลวันหยุดยาว ความพร้อมของผู้ขับสามารถวิ่งได้ประมาณ 4 รอบ แต่ถูกจำกัดด้วยระบบ ทำให้รถไม่เพียงพอต่อผู้โดยสาร

ท้ายที่สุดการใช้เทคโนโลยีเข้ามาควบคุมถือเป็นเรื่องดี แต่หน่วยงานรัฐควรตรวจสอบระบบให้ใช้งานได้จริงอย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ระบบเป็นที่เชื่อถือแม่นยำมากกว่านี้ แม้จะไม่ได้มีเป้าหมายเพื่อจับผิด ซึ่งจุดประสงค์แท้จริงคือสร้างความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินให้ประชาชน ฉะนั้นผู้ประกอบการอย่าเห็นแต่เพียงจำนวนรอบวิ่งให้ได้หลายเที่ยว เพราะต้นทุนที่สูงที่สุดคือความเสี่ยงต่อชีวิต ไม่คุ้มค่าเมื่อเทียบกับการได้รอบวิ่งเพิ่มขึ้นอีก 1-2 เที่ยว และเงินอีกเล็กน้อยแลกกับชีวิตคน