posttoday

รากปัญหา

21 มิถุนายน 2561

พฤติกรรมทุจริตอาหารกลางวันเด็ก ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าละอายใจอย่างยิ่ง

โดย...มะกะโรนี

พฤติกรรมทุจริตอาหารกลางวันเด็ก ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าละอายใจอย่างยิ่ง กำลังถูกตรวจสอบอย่างเข้มข้น แต่สิ่งที่เราๆ ท่านๆ ควรคาดหวังไปให้ไกลกว่านี้ก็คือ เรื่องของความจริงจังในการสอบและอุดรูรั่วของขั้นตอนในการใช้งบประมาณต่างๆ ของราชการ ซึ่งกรณีแรกก็ได้แต่หวังว่าอย่าให้เป็นเพียงปัญหาไฟลามทุ่ง หมดกระแส ก็ไม่มีใครสนใจกันอีก ขณะที่กรณีที่สองเป็นเรื่องต้องกุมขมับคิดหลายรอบ เพราะเรื่องนี้มักจะเป็นปัญหาซ้ำซากที่จับไม่ได้ ลองได้ชื่อว่าอยู่ในระบบระเบียบขั้นตอนมานานแล้วตั้งใจจะโกง ยังไงก็หาช่องกันจนได้

แต่จะว่าไป เรื่องเบียดบังเงินค่าอาหารกลางวันเด็กก็ถือเป็นเพียงปัญหาส่วนหนึ่ง ในสารพัดสารพันปัญหาในแวดวงการศึกษา ซึ่งแต่ละเรื่องล้วนแต่น่าตกใจ ไม่มีใครแก้ไขได้

นพ.จรัส สุวรรณเวลา ประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา พูดคุยกับ “โพสต์ทูเดย์” เมื่อเร็วๆ นี้ว่า ปัญหาด้านการศึกษาที่เรามีนั้นส่งผลกระทบต่อการพัฒนาความเจริญของบ้านเมือง เพราะแม้เราจะมีเด็กเก่งได้รางวัลจากการแข่งขันด้านวิชาการระดับโลกทุกปี แต่ในภาพรวมแล้ว คุณภาพการศึกษาก็ยังต่ำ และจมอยู่ในวังวนความเหลื่อมล้ำ จนไม่สามารถสร้างโอกาส บ่มเพาะความสามารถ เพื่อแข่งขันบนเวทีโลกได้

แต่ละปีเรายังประสบปัญหานักเรียนออกกลางคันอีกปีละกว่า 6 หมื่นคน เด็กกลุ่มนี้ซึ่งมีฐานะทางบ้านยากจนชนิดที่นโยบายที่นักการเมืองชอบหยิบมาอ้างว่า ได้ส่งเสริมให้เรียนฟรี แต่ก็ช่วยอะไรได้ไม่มาก ไม่สามารถยกระดับชีวิตพวกเขาซึ่งในที่สุด ต้องก้มหน้าเข้าสู่ตลาดแรงงาน เป็นได้เพียงแรงงานที่ไร้ฝีมือ การศึกษาก็ไม่ได้ช่วยดึงศักยภาพที่แต่ละคนมีออกมาได้

ดูเหมือนว่า แม้ความเจริญด้านวัตถุของเราจะเทียบเท่านานาประเทศอย่างไร้รอยต่อ แต่ก็ไม่เคยก้าวข้ามปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาได้ ที่น่าตกใจคือ โรงเรียนที่คุณภาพต่ำที่สุด กลับตั้งอยู่ในกรุงเทพมหานคร ข้อมูลการประเมินบอกชัดว่าเป็นเช่นนั้น

นพ.จรัส เล่าด้วยว่า เรามักจะทราบดีอยู่แล้วว่า โรงเรียนในกลุ่มโรงเรียนสาธิตของมหาวิทยาลัยแห่งต่างๆ นั้นมีคุณภาพการเรียนการสอนที่ดีกว่าโรงเรียนทั่วไป แต่เมื่อพยายามหาคำตอบว่าเหตุใดโรงเรียนเหล่านี้ จึงสอนเด็กได้อย่างมีประสิทธิภาพก็ได้คำตอบที่น่าตกใจอีกครั้ง
นั่นคือพบว่า โรงเรียนในกลุ่มนี้สอนแบบไม่สนใจเนื้อหาสาระของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) จัดการเรียนการสอนเอง ใช้อาจารย์มหาวิทยาลัยมาสอนและตรงกับความต้องการของเด็ก 

ยังไม่นับปัญหาเรื้อรังอื่นๆ อย่างความไร้ความสามารถที่จะหยุดการแข่งขันทางการศึกษาได้ แข่งกันดุเดือดตั้งแต่เรียนอนุบาลสอบเข้า ป. 1 เพราะในเมื่อโรงเรียนที่มีคุณภาพมีอยู่เพียงหยิบมือเดียว ใครๆ ก็คิดตรงกันคือ อยากฝากอนาคตไว้กับสิ่งที่ดีกว่า

นอกจากปัญหาการเรียนในระดับพื้นฐานแล้ว การเรียนในระดับอื่นๆ ก็มีปัญหาไม่ต่างกันนัก การเรียนในระดับที่สูงขึ้น กลายเป็นเรื่องของการเน้นด้านธุรกิจ แต่เพิกเฉยต่อคุณภาพ ความเป็นจริง ตลาดแรงงาน แม้แต่ระบบกู้ยืมเรียนก็บ้อท่าที่จะรับผิดชอบต่อปัญหาการผลิตคนไปตกงาน ไหนจะเรื่องมหาวิทยาลัยที่มีงานวิจัยล้าหลัง ถดถอยยิ่งกว่าประเทศที่เคยมาดูงานการพัฒนามหาวิทยาลัยเมื่อไม่กี่ปีมานี้เสียอีก แต่มหาวิทยาลัยทั้งหลายก็ไม่ได้นำพาต่อปัญหานี้ ยังต่างคนต่างอยู่ แต่จำนวนไม่น้อยก็อยู่แบบหวาดกลัวจำนวนผู้เรียนที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง

รากปัญหาในแวดวงการศึกษานั้นหยั่งลึก อำนาจบริหาร อำนาจราชการใน ศธ. หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หรือกระทั่งอำนาจทางการเมืองที่ได้ประโยชน์จากแวดวงนี้ต่างทราบดีว่าอะไรเป็นอะไร แต่ก็ปล่อยให้เป็นอย่างนี้ต่อไป โกงเงินอาหารกลางวันเป็นแค่เศษเสี้ยวเดียวเท่านั้น