posttoday

พรรคเกิดใหม่ ล้มเหลวหรือสำเร็จ

09 มิถุนายน 2561

ทุกครั้งที่การเมืองไทยเกิดปฏิวัติรัฐประหารมักจะเกิดพรรคการเมืองหน้าใหม่ออกมาสนับสนุนกองทัพ

โดย ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

ทุกครั้งที่การเมืองไทยเกิดปฏิวัติรัฐประหารมักจะเกิดพรรคการเมืองหน้าใหม่ออกมาสนับสนุนกองทัพ และหัวหน้าคณะปฏิวัติรัฐประหารให้เป็นรัฐบาลและนายกรัฐมนตรีสืบต่อไป ปรากฏการณ์การเมืองนี้ไม่ใช่ของใหม่ แต่เกิดขึ้นมาโดยตลอดประวัติศาสตร์การเมืองไทยส่วนใหญ่จุดกำเนิดและจุดจบคล้ายๆ กัน

ไล่ตั้งแต่อดีต “พรรคเสรีมนังคศิลา” เกิดขึ้นปี 2498 เป็นพรรคการเมืองที่ตั้งขึ้นมาสนับสนุนให้ จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นหัวหน้าพรรค พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ เลขาธิการฯ โดยมีรองหัวหน้าพรรค อาทิ จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ พล.ต.ประภาส จารุเสถียร ทั้งหมดล้วนเป็นผู้นำกองทัพในการทำการปฏิวัติ ในที่สุดชนะการเลือกตั้ง แต่ต่อมาเกิดความขัดแย้งกันเองระหว่างกลุ่มทหารที่กุมอำนาจ เหตุการณ์ทางการเมืองบานปลายรุนแรงจนเกิดรัฐประหารซ้ำอีกในปี 2500 นำโดย จอมพลสฤษดิ์ ถัดมาในปีเดียวกันเกิด “พรรคสหภูมิ” มี สุกิจ นิมมานเหมินท์ อดีต สส.พรรคเสรีมนังคศิลา ที่ลาออกมารับตำแหน่งหัวหน้าพรรค เพื่อปูทางการเมืองให้จอมพลสฤษดิ์ ผบ.ทบ.ในยุคนั้น หนุนหลังเป็นนอมินีให้กับกองทัพ 

 หลังยึดอำนาจสำเร็จ พจน์ สารสิน ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี พอจัดการเลือกตั้งใหม่กลับกลายเป็นว่าคะแนนเสียงไม่เบ็ดเสร็จเด็ดขาดจัดตั้งรัฐบาลไม่ได้ จึงยุบพรรคเสรีมนังคศิลามารวมกับพรรคสหภูมิ กลายร่างใหม่เป็น “พรรคชาติสังคม” มี จอมพลสฤษดิ์ เป็นหัวหน้าพรรค โดยมี พล.ท.ถนอม กิตติขจร เป็นรองหัวหน้าพรรค และ พล.ท. ประภาส  เป็นเลขาธิการพรรค  พร้อมๆ กับจับมือกับพรรคการเมืองอื่นๆ ตั้งรัฐบาลผสมโดยผลักดันให้ พล.ท.ถนอม เป็นนายกรัฐมนตรี  แต่ต่อมาสถานการณ์การเมืองกลับมาวุ่นวายอีกครั้งเมื่อจอมพล สฤษดิ์ทำรัฐประหารล้มกระดานรัฐบาลในสมัยนั้น

ต่อมาปี 2511 เกิด “พรรคสหประชาไทย” โดยจอมพลถนอมประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ พร้อมกับมีพระราชบัญญัติพรรคการเมือง พ.ศ. 2511 ออกมาบังคับใช้ จึงได้ก่อตั้งพรรคทหารขึ้นมา แต่เกิดความวุ่นวายในปี 2514 จอมพลถนอมประกาศยึดอำนาจตัวเอง ยกเลิกรัฐธรรมนูญ ยกเลิกพรรค การเมือง และสั่งห้ามชุมนุมทางการเมือง ในที่สุดเป็นการปิดฉากพรรคสหประชาไทย และต่อมาเกิดเหตุการณ์นองเลือด 14 ต.ค. 2516

การตั้งพรรคเพื่อหนุนกองทัพเป็นรัฐบาลเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีก พอเข้าสู่ยุครัฐประหารโดยคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ปี 2534 เกิด “พรรคสามัคคีธรรม” โดยมี ณรงค์ วงศ์วรรณ เป็นหัวหน้าพรรค แต่ท้ายที่สุดพลาดเก้าอี้ไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรี เพราะถูกสหรัฐอเมริกาขึ้นบัญชีดำ จึงผลักดันกองทัพเป็นรัฐบาลโดย พล.อ.สุจินดา คราประยูร อดีต ผบ.ทบ. ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี ต่อมาเกิดเหตุการณ์นองเลือด พฤษภาทมิฬ ปี 2535  

สูตรการเมืองพรรคทหารดูเหมือนจะไม่เคยเปลี่ยนพอมาปฏิวัติรัฐประหาร ปี 2549 หลังทหารโค่นล้มรัฐบาล ทักษิณ ชินวัตร นำโดย พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผบ.ทบ.ในขณะนั้น พอการเมืองจะเริ่มเข้าสู่โหมดการเลือกตั้งปี 2550 เกิดการตั้งพรรคขึ้นมาหนุนกองทัพให้เป็นรัฐบาล

ในช่วงนั้นเกิดกระแสข่าวว่า “พรรคเพื่อแผ่นดิน” ที่มี สุวิทย์ คุณกิตติ เป็น หัวหน้าพรรค สุรเกียรติ์ เสถียรไทย พินิจ จารุสมบัติ และปรีชา เลาหพงศ์ชนะ ร่วมก่อตั้งแต่ไม่ประสบความสำเร็จในการเลือกตั้ง พ่ายแพ้ “พรรคพลังประชาชน” ใต้เงาทักษิณที่หนุน สมัคร สุนทรเวช ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี แต่สุดท้ายพรรคที่ถูกขึ้นชื่อว่าเป็นพรรคทหารต้องยอมเข้าร่วมรัฐบาลกับทักษิณ

พรรคทหารที่ชัดเจนที่สุดในช่วงนั้นเห็นจะเป็น “พรรคมาตุภูมิ” โดยมี พล.อ. สนธิ หัวหน้าคณะรัฐประหารปี 2549 มาเป็นหัวหน้าพรรคเอง จึงปฏิเสธไม่ได้ว่า พล.อ.สนธิ ตั้งพรรคโดยกองทัพสนับสนุน แต่พอลงสนามการเมืองจริงๆ กลับไม่ประสบความสำเร็จในการเลือกตั้งเป็นได้เพียงฝ่ายค้าน  

จนปฏิวัติรัฐประหารปี 2557 นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้า คสช.กำลังจะใช้สูตรการเมืองเดียวกัน คือ ตั้งพรรคทหารเพื่อต่ออายุรัฐบาล คสช.อีกสมัย แต่พรรคทหารในการปฏิวัติรอบนี้กลับแตกต่างจากอดีต เพราะได้นักการเมืองมืออาชีพ “สุเทพ เทือกสุบรรณ”  ประธานมูลนิธิมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย ผู้นำม็อบนกหวีดชุมนุมใหญ่ชัตดาวน์กรุงเทพฯ ที่สามารถนำมวลมหาประชาชนมาโค่นล้มรัฐบาล “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี เปิดทางให้ พล.อ.ประยุทธ์ เข้ายึดอำนาจ

คสช.อยู่ครบวาระ 4 ปี ก่อนจะลงจากหลังเสือ การเมืองกลับมาสู่การเลือกตั้งเดือน ก.พ. 2562 สุเทพ ประกาศตั้ง “พรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.)” เปิดหน้าท้าชนสู้ศึกเลือกตั้งเพื่อสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไปเพื่อสานต่อภารกิจปฏิรูปให้สำเร็จ

ตั้งแต่อดีตจนปัจจุบันพบว่าพรรค การเมืองที่สนับสนุนกองทัพเข้ามาเป็นรัฐบาลล้วนเป็นพรรคที่เกิดขึ้นมาเฉพาะกิจ ส่วนใหญ่เป็นได้แค่ไม้ประดับในสภาไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ ส่วนพรรคทหารในนาม คสช. จะกวาดคะแนนเสียงจัดตั้งรัฐบาลได้หรือไม่ หรือจะลงเอยเหมือนพรรคนอมินีทหาร