posttoday

ปฏิรูปคืบหรือคลาน

17 พฤษภาคม 2561

กลายเป็นวิวาทะเดือดคนในรัฐบาลด้วยกันถึงขนาด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ออกอาการอารมณ์ฉุนกับคำพูดของ บวรศักดิ์ อุวรรณโณ

โดย...นาย ป.

กลายเป็นวิวาทะเดือดคนในรัฐบาลด้วยกันถึงขนาด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ออกอาการอารมณ์ฉุนกับคำพูดของ บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานปฏิรูปด้านกฎหมาย ที่ออกโรงมาฉะว่ารัฐบาลปฏิรูปอืด เพราะนายกฯ ไม่ลงมานำการปฏิรูปด้วยตัวเอง ดังนั้น จึงอยากยกตัวอย่างแนวทางการปฏิรูปของประเทศมาเลเซีย

ตัวอย่างประเทศมาเลเซียประสบปัญหาจากกฎหมายที่ล้าสมัยและไม่เอื้อต่อการประกอบธุรกิจของภาคเอกชนจำนวนมากคล้ายๆ ประเทศไทย เมื่อครั้งยังตกเป็นเมืองขึ้น เช่น กฎหมายที่กำหนดให้หมู่บ้านทุกแห่งจะต้องรายงานต่อทางการว่ามีการกักตุนข้าวสารเป็นจำนวนมากน้อยเพียงใดในทุกๆ วัน ด้วยเหตุนี้รัฐบาลมาเลเซียจึงได้มีการแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย เพื่อลดภาระของประชาชนและภาคธุรกิจหลายครั้ง การดำเนินการครั้งแรกเริ่มในปี 2550 ด้วยการจัดตั้งคณะทำงานที่ประกอบด้วยตัวแทนจากภาครัฐและภาคธุรกิจ คณะทำงานนี้มีหน้าที่สำคัญในการสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนในประเทศมาเลเซีย และการให้ข้อเสนอแนะต่อนายกฯ มาเลเซีย ในการปรับปรุงกฎหมายและกระบวนการทำงานของหน่วยงานของรัฐ

ผลงานสำคัญคือการจัดทำข้อเสนอเพื่อช่วยเหลือภาคเอกชนในการประกอบธุรกิจและการปรับอันดับของประเทศมาเลเซียในการจัดอันดับความยากง่ายในการประกอบธุรกิจของธนาคารโลก ซึ่งอยู่ที่อันดับ 21 ในปี 2551 ขึ้นไปถึงอันดับที่ 6 ในปี 2556 และในปีล่าสุดตกลงมาที่อันดับ 24

จากนั้นปี 2553 รัฐบาลมาเลเซียได้ดำเนิน “โครงการปรับปรุงใบอนุญาตและกระบวนการที่เกี่ยวข้องให้มีความทันสมัย” ภายใต้โครงการนี้คณะทำงานได้ทำการทบทวนใบอนุญาตทั้งสิ้น 799 ฉบับ โดยเสนอให้ยกเลิก 34 ฉบับ และเสนอให้ปรับปรุงกระบวนงาน 765 ฉบับ ซึ่งในจำนวนนี้เป็นข้อเสนอให้มีการดำเนินการด้วยระบบอัตโนมัติสำหรับใบอนุญาต 214 ฉบับ

ปัญหาสำคัญของโครงการนี้อยู่ที่การนำผลการทบทวนใบอนุญาตที่จัดทำโดยรัฐบาลกลาง ไปปรับใช้กับใบอนุญาตเรื่องเดียวกันที่ดำเนินการโดยรัฐบาลท้องถิ่น ซึ่งไม่ประสบความสำเร็จมากนัก ในปี 2554 รัฐบาลมาเลเซียได้เปิดตัว “โครงการทบทวนกฎเกณฑ์ของรัฐ” โดยโครงการนี้มุ่งปรับปรุงกฎเกณฑ์ที่ไม่มีประสิทธิภาพ ซึ่งก่อให้เกิดภาระให้แก่ประชาชนอันเนื่องมาจาก 1.ปัญหาจากตัวกฎเกณฑ์นั้นเอง 2.ปัญหาจากการบังคับใช้กฎเกณฑ์โดยไม่มีประสิทธิภาพ และ 3.ปัญหาจากความซ้ำซ้อนของกฎเกณฑ์ จากการประมาณการ โครงการนี้ทำให้ภาคเอกชนในประเทศมาเลเซียประหยัดค่าใช้จ่ายไปได้ถึง 1,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นับแต่ปี 2554 เป็นต้นมา

จากนั้นในปี 2557 รัฐบาลมาเลเซียได้กำหนดนโยบายแห่งรัฐในการพัฒนาและการใช้บังคับกฎเกณฑ์ ซึ่งได้กำหนดให้หน่วยงานของรัฐจะต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบในการออกกฎเกณฑ์เพื่อสร้างเสริมความโปร่งใสและสร้างความเชื่อมั่นให้กับภาคเอกชน และล่าสุด ในปี 2560 รัฐบาลมาเลเซียได้กำหนดแผนการเสริมสร้างผลผลิตแห่งรัฐ ซึ่งมีมาตรการสำคัญ 10 ประการ โดยมาตรการสำคัญประการหนึ่งคือ การสร้างกลไกความรับผิดชอบของหน่วยงานของรัฐในการออกกฎเกณฑ์และการทบทวนกฎเกณฑ์ของตน

แนวทางการปฏิรูปในประเทศมาเลเซียแม้จะไม่สำเร็จนักแต่เทียบกับไทยคงไม่ต้องกล่าวถึงดังนั้นคำกล่าวของบวรศักดิ์กับ พล.อ.ประยุทธ์ ใครถูกผิดประชาชนตัดสินเอง