posttoday

วิชาที่ต้องทบทวน

04 พฤษภาคม 2561

เศรษฐศาสตร์เป็นวิชาเก่าแก่ที่สอนกันมาอย่างเนิ่นนาน โดยมีรากฐานมาจากรัฐศาสตร์ ที่เป็นศาสตร์ของนักปกครอง

โดย..ณ กาฬ เลาหะวิไลย

เศรษฐศาสตร์เป็นวิชาเก่าแก่ที่สอนกันมาอย่างเนิ่นนาน โดยมีรากฐานมาจากรัฐศาสตร์ ที่เป็นศาสตร์ของนักปกครอง

หลักการของเศรษฐศาสตร์พอแยกเป็น 2 ด้านใหญ่ๆ คือ เศรษฐศาสตร์มหภาค ที่มุ่งเน้นให้เกิดประโยชน์สูงสุดในระบบเศรษฐกิจ นั่นคือการจ้างงาน

อีกด้านคือเศรษฐศาสตร์จุลภาค ที่เน้นกำไรสูงสุดในส่วนย่อย ก็คือในภาคธุรกิจ

แต่บัดนี้เห็นทีวิชาเศรษฐศาสตร์น่าจะต้องมาทบทวนแนวคิดกันใหม่ โดยเฉพาะในแง่เศรษฐศาสตร์จุลภาค

เพราะมีบริษัทยักษ์จากโลกตะวันออก ประกาศก้องว่า กำไรของบริษัทไม่ใช่ต้องทำให้มากสุด หรือสูงสุด โดยจะกำหนดเพดานไว้ไม่เกิน 5%

และหากำไรมากกว่านั้น ก็จะคืนกำไร จัดสรรให้กับลูกค้าในหลากรูปแบบ

บริษัทที่กำลังท้าทายความคิด ท้าทายวิชาเศรษฐศาสตร์และการทำธุรกิจก็คือ เสี่ยวหมี่ ของจีน

เหลย จุน ผู้ก่อตั้งและผู้บริหารบริษัทเสี่ยวหมี่ บอกว่า การกำหนดเพดานกำไรและแบ่งคืนลูกค้านี้ เป็นหนึ่งในวิสัยทัศน์ นวัตกรรมเพื่อทุกคน 

เสี่ยวหมี่ประสบความสำเร็จอย่างมาก จากการผลิตโทรศัพท์สมาร์ทโฟน โดยเน้นที่ความมีประสิทธิภาพ แต่ราคาไม่แพง

ที่สำคัญ สมาร์ทโฟนของเสี่ยวหมี่แต่ละรุ่น ยังมีอายุการขายที่ยาวนาน แม้มีรุ่นใหม่ๆ ออกมาแล้ว แต่ก็ยังขายรุ่นเก่าเช่นเดิมในราคาถูกลง

แนวทางเช่นนี้แตกต่างจากแนวคิดบริษัทตะวันตกที่ผลิตสมาร์ทโฟนออกมาขายแบบถี่ยิบ เพื่อดูดเงินในกระเป๋าลูกค้าให้มากสุด

การที่ เสี่ยวหมี่ ทำเช่นนี้ได้มาจากจุดเริ่มต้นของธุรกิจ ที่มาจากการผลิตอุปกรณ์บางชิ้นให้กับโทรศัพท์มือถือมากมาย

จากนั้นผันตัวเองมาผลิตมือถือของตัวเอง รุ่นแรกคือ มี่ วัน-Mi One ที่สร้างความฮือฮาอย่างมาก เนื่องจากเป็นสมาร์ทโฟนสเปกสูงในราคาย่อมเยา

ยอดขายของมี่วัน ทะลุ 7 ล้านเครื่อง จากที่ตั้งไว้เพียงหลักแสนเครื่องเท่านั้น

ถัดมาเสี่ยวหมี่ นำ มี่ ทู-Mi 2 ออกขาย 5 หมื่นเครื่องในจีน และหมดลงในเวลาใน 3 นาที จากนั้นขยายผลิตภัณฑ์ไปยังแท็บเล็ตด้วย

มือถือของเสี่ยวหมี่ คุณภาพครบ ราคาเมืองไทยก็หลักหมื่นบาทต้นๆ เท่านั้น

ขณะเดียวกัน เสี่ยวหมี่ทยอยเปิดตัวสินค้าอิเล็กทรอนิกส์อีกหลายตัว เช่น สมาร์ททีวี อุปกรณ์สุขภาพ หูฟัง เครื่องชั่งน้ำหนัก แบตเตอรี่สำรอง เครื่องฟอกอากาศ แม้กระทั่งรถยนต์ รวมไปถึงร่วมลงทุนกับบริษัทสตาร์ทอัพมากมาย

ทั้งหมดเสี่ยวหมี่ใช้กลยุทธ์เหมือนกัน ก็คือราคาที่คุ้มค่าเมื่อเทียบกับคุณภาพ และใช้กระบวนการผลิตที่ทำให้ต้นทุนลดต่ำลง

และล่าสุดเสี่ยวหมี่กำลังทำสิ่งที่ท้าทายคือการประกาศกำหนดเพดานกำไรสูงสุดของบริษัท

ไม่เพียงแต่ท้าทายความคิดด้านเศรษฐศาสตร์ แต่ยังท้าทายคู่แข่งขัน รวมถึงการทำธุรกิจในโลกนี้อีกด้วย

ทำไมถึงจะมีบริษัทอย่างเสี่ยวหมี่ เกิดขึ้นให้มากกว่าเดิม