posttoday

เลิกล้าหลัง

19 เมษายน 2561

คุกมีไว้ขังคนจน เป็นประโยคเสียดแทงใจถึงความเหลื่อมล้ำต่ำสูงของกระบวนการยุติธรรม

โดย...นายป.

คุกมีไว้ขังคนจน เป็นประโยคเสียดแทงใจถึงความเหลื่อมล้ำต่ำสูงของกระบวนการยุติธรรม

ที่ผ่านมาเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์มาตลอดว่ากฎหมายไทยถูกใช้เป็นเครื่องมือเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มคนที่มีอำนาจเงินมากกว่าปกป้องสิทธิคนยากคนจน

ไทยเป็นชาติที่ขึ้นชื่อว่าออกกฎหมายมากที่สุดประเทศหนึ่ง ออกกฎหมายมาแบบเกินความจำเป็นนับหมื่นนับพันฉบับ ยังไม่นับรวมกฎหมายที่ล้าหลังแต่ไม่ยอมโละทิ้งเสียที จนกลายเป็นบ่อเกิดของอุปสรรคของการรับรู้และเข้าถึงกฎหมายของประชาชนทั่วไป

ยิ่งถ้าเป็นคนจนด้วยแล้ว ย่อมต้องใช้ต้นทุนในการเข้าถึงสูงมาก แตกต่างจากกลุ่มคนที่มีเงินและอำนาจ กลายเป็นว่ารัฐออกกฎหมายมาเพื่อควบคุมคนส่วนใหญ่ แต่เอื้อประโยชน์แค่คนส่วนน้อย แล้วถ้าเป็นแบบนี้จะมีกฎหมายไว้จำนวนมากเพื่ออะไร 

จริงๆ แล้วหลักการออกกฎหมายไม่ได้ยากสลับซับซ้อน แค่ต้องเป็นกฎหมายที่ออกมาให้ประชาชนเข้าถึงง่าย สะดวก เหมาะสมกับความเป็นจริง ไม่เลือกปฏิบัติ เช่น โทษอาญาต้องเหมาะสมกับความผิด หรือฐานะของผู้กระทำผิด

จึงไม่แปลกที่จะเห็นคนร่ำรวยไม่เคยติดคุก เพราะมีเงินจ้างทนายความเก่งๆ แถมผู้ถือกฎหมายเกรงใจในอำนาจบารมีและเงินทองอีกต่างหาก ส่วนคนจนแล้วสู้คดีไปตามยถากรรมจึงเกิดการจัดตั้งกองทุน กลไกยุติธรรมชุมชนและอาสาสมัครนักกฎหมายเพื่อไปช่วยเหลือ

บ้านเรากฎหมายนับแสนฉบับ แต่ใช้จริงเพียงไม่กี่ร้อยกี่พันฉบับ จึงสมควรสังคายนาเสียที กฎหมายใดล้าหลังก็ควรยกเลิก ดังนั้นจึงควรยกเลิกหรือปรับปรุงกฎหมายที่ล้าสมัย และเป็นอุปสรรคต่อการดำรงชีวิตและการประกอบอาชีพของประชาชน

ส่วนจะเป็นรูปแบบใดคงต้องพิจารณาตามความเหมาะสม แต่สิ่งสำคัญต้องกล้าหักไม่ยอมงอต่อบางกระทรวง ทบวง กรม ที่ไม่ยอมลดอำนาจตัวเองเพื่อประโยชน์ส่วนรวม แต่เอาเข้าจริงยังไม่แน่ใจว่าระบบหรือกฎหมายกันแน่ที่ล้าหลัง เพราะหน่วยงานรัฐบางส่วนยังคงมีอำนาจออกกฎระเบียบเอง จนบางครั้งเกิดความทับซ้อนระหว่างหน่วยงานในการใช้อำนาจ จนสร้างความสับสนในการใช้ดุลพินิจ

ควรให้ประชาชนหรือภาคส่วนต่างๆ เข้าไปมีส่วนร่วมในการเสนอกฎหมายด้วย เพราะการผูกขาดการเสนอกฎหมายโดยกระทรวง สภา หรือ สส. และ สว. ไม่เพียงพอ อีกปัญหาที่พบ คือ การใช้ดุลพินิจ หรือตีความที่ต่างนำไปเข้าข้างตัวเอง เช่น กฎระเบียบ คำสั่ง มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) คำพิพากษา คำวินิจฉัย หรืออื่นๆ มีอยู่มากมาย จนไม่มีหน่วยงานหรือองค์กรใดชี้ขาดได้ว่าตรงลงหน่วยงานหรือองค์กรใดถูกต้องที่สุด จึงควรมีการรวบรวมข้อมูลให้เป็นเอกภาพเพื่อความชัดเจนแก่ประชาชนผู้ถูกบังคับใช้ภายใต้กฎหมาย มิใช่ปล่อยให้ต่างฝ่ายต่างมีอำนาจยึดมั่นในกฎหมายที่ตัวเองถืออยู่ 

ยิ่งปัจจุบันยุคดิจิทัล การบริการประชาชนต้องโปร่งใสเป็นธรรม ไม่เลือกปฏิบัติ ที่สำคัญการทำงานของหน่วยงานรัฐด้านกฎหมายต้องเชื่อมโยงกันผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ประชาชนสามารถเข้าถึงระบบสารสนเทศได้โดยทั่วถึงในทุกพื้นที่ ถึงเวลาที่ต้องเร่งดำเนินการเสียที

ดังนั้น ทุกหน่วยงานต้องเพิ่มประสิทธิภาพการบังคับใช้กฎหมาย นำเทคโนโลยีหรือเครื่องมือมาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมาย ที่สำคัญควรมีกลไกการตรวจสอบและรายงานการบังคับใช้กฎหมายว่ากฎหมายฉบับใดควรยกเลิก หรือควรออกกฎหมายใหม่ให้เท่าทันสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป เพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายเป็นไปตามวัตถุประสงค์และป้องกันการทุจริตและประพฤติมิชอบของเจ้าหน้าที่ ผู้บังคับใช้กฎหมาย