posttoday

ใจเขาใจเรา

17 เมษายน 2561

หลาย 10 ปีที่ผ่านมากรุงเทพมหานคร (กทม.) มีปัญหาเรื่องร้านค้าหาบเร่แผงลอยกีดขวางทางเท้า

โดย...แสงตะเกียง

หลาย 10 ปีที่ผ่านมากรุงเทพมหานคร (กทม.) มีปัญหาเรื่องร้านค้าหาบเร่แผงลอยกีดขวางทางเท้า ซึ่งเป็นผลให้เกิดปัญหาตามมาอีกมาก อาทิ การจราจรติดขัดเพียงเพราะผู้ค้าจอดรถริมทางเพื่อนำสินค้ามาขาย บ้างก็ตั้งร้านจนทำให้ประชาชนไม่สามารถใช้เดินสัญจรไปมาได้สะดวก

ลองถามใจตนเองว่า จะเกิดความรู้สึกเช่นไร เมื่อแผงลอยเหล่านี้ตั้งร้านบนฟุตปาทแล้วเหลือช่องทางให้เดินแค่เล็กน้อย บางคนจำใจต้องลงไปเดินบนถนนทั้งที่อันตรายถึงชีวิตหากถูกรถยนต์เฉี่ยวชน 

อีกปัญหาคือ เมื่อขายของเสร็จแล้วย่อมมีเศษขยะหลงเหลือทิ้งไว้ข้างถนน สร้างภาระเพิ่มงานให้พนักงานเก็บกวาดมากขึ้นไปอีกทั้งที่ภาระมีมากพออยู่แล้ว สิ่งเหล่านี้เป็นแค่ปัญหาที่ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นตัวอย่างเท่านั้น หากต้องสาธยายให้ละเอียดเนื้อที่สำหรับเหนี่ยวไกคงไม่พอ

แน่นอนว่านโยบายจัดระเบียบหาบเร่แผงลอยทวงคืนทางเท้าของ กทม.ย่อมก่อให้เกิดผลดีต่อประชาชนในภาพรวม นั่นเท่ากับสิทธิเสรีภาพของมนุษย์ที่จะเดินอย่างปลอดภัยได้รับการปกป้อง สำคัญที่สุดคือแก้ปัญหาได้นานัปการ

แต่ทางฝั่งผู้ประกอบอาชีพหาบเร่แผงลอยพยายามเรียกร้องให้ยกเลิกนโยบายจัดระเบียบทางเท้า ด้วยเหตุผลว่าไม่มีสถานที่ค้าขาย กลายเป็นหนี้นอกระบบ ไม่มีเงินหมุนเวียนในการดำเนินชีวิต และขอให้ผู้ค้าได้กลับไปขายในจุดเดิมที่ถูกยกเลิกทั้งในจุดผ่อนผันและจุดผ่อนปรน

ข้ออ้างเรื่องความยากจนและต้องหาเลี้ยงครอบครัวมักถูกยกขึ้นมาเป็นโล่อยู่บ่อยครั้ง บ้างก็ว่าร้ายกล่าวหาเจ้าหน้าที่รัฐใช้นโยบายกลั่นแกล้ง ทั้งที่ความจริงการค้าขายทำมาหากินสามารถทำได้โดยไม่สร้างความเดือดร้อนให้ผู้อื่น ดังนั้น การกระทำความผิดโดยเบียดเบียนคนส่วนใหญ่แล้วให้สังคมยอมรับ ย่อมสวนทางกับความถูกต้องโดยสิ้นเชิง 

ไม่ใช่อยู่ๆ จะยกเลิกจุดผ่อนผันก็ทำได้ เพราะ กทม.มีลำดับเป็นขั้นตอน ดังนี้ 1.ต้องประชุมชี้แจงถึงเหตุผลในการยกเลิกแก่ผู้ค้าอย่างชัดเจน 2.ปิดประกาศแจ้งผู้ค้าให้รับทราบอย่างชัดเจนล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 1 เดือน 3.สำนักงานเขตพื้นที่แนะนำหรือจัดหาแหล่งจำหน่ายสินค้าให้แก่ผู้ค้าใหม่ ทั้งในตลาดของ กทม.และในตลาดเอกชน โดยหากกรณีที่เขตไม่สามารถจัดหาพื้นที่ค้าแห่งใหม่ได้ ต้องให้ระยะเวลาแก่ผู้ค้าเพื่อจัดหาที่ค้าใหม่ไม่น้อยกว่า 2 เดือน และ 4.เมื่อสำนักงานเขตยกเลิกจุดผ่อนผันสำเร็จแล้วต้องเข้าปรับปรุงพื้นที่ตามแผนที่กำหนดไว้ให้ประชาชนได้รับประโยชน์สูงสุด

ภายหลังจัดระเบียบผลการประเมินและตรวจสอบสภาพพื้นที่พบว่าทุกจุดมีลักษณะทางกายภาพดีขึ้น ประชาชนได้รับความสะดวกในการสัญจรมากขึ้น แต่ยังมีบางแห่งพบผู้ค้าลักลอบฝ่าฝืนกฎหมายกลับมาขายซ้ำ จึงเป็นหน้าที่ของแต่ละสำนักงานเขตและเจ้าหน้าที่เทศกิจหมั่นลงพื้นที่กวดขันดูแลตลอด 24 ชม. เพื่อให้บ้านเมืองเป็นระเบียบหากพบผู้ค้าฝ่าฝืนให้ดำเนินการจับปรับตามกฎหมาย พ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 ในอัตราสูงสุด 2,000 บาท และผลักดันออกจากพื้นที่ทันที

ตอกย้ำด้วยคำยืนยันจาก พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม. ได้ประกาศไว้ชัดเจนว่าไม่ยอมให้แผงลอยกลับมาอีก เพราะทางเท้าคือทางเท้า ไม่ใช่ทางขายของ เพราะบ้านเมืองมีกฎหมาย อย่าปล่อยให้ความมักง่ายมาเอาเปรียบคนส่วนใหญ่ให้จำใจต้องยอมรับโดยไม่มีทางเลือก ทั้งที่บ้านเมืองมีกฎระเบียบเป็นหลักปฏิบัติในการดำรงอยู่ร่วมกัน ดังนั้น ผู้ค้าควรเอาใจเขาใส่ใจเราบ้าง หากลูกหลานลงไปเดินบนถนนแล้วถูกรถเฉี่ยวชน เพียงเพราะทางเท้าแน่นไปด้วยร้านค้าแผงลอยจะรู้สึกเช่นไร