posttoday

ล่าขุมทรัพย์เพิ่มความมั่งคั่ง ผ่านเครื่องมือใหม่

10 เมษายน 2561

การลงทุนมีความเสี่ยง แต่การฝากเงินในบัญชีออมทรัพย์นอนกินดอกเบี้ยเฉยๆ โดยไม่นำไปลงทุนใดๆ เลย ก็เป็นความเสี่ยงเช่นกัน เพราะในภายภาคหน้าดอกเบี้ยที่ได้รับมาอาจจะไม่พอใช้ในวัยเกษียณ

โดย...จารุพันธ์ จิระรัชนิรมย์

การลงทุนมีความเสี่ยง แต่การฝากเงินในบัญชีออมทรัพย์นอนกินดอกเบี้ยเฉยๆ โดยไม่นำไปลงทุนใดๆ เลย ก็เป็นความเสี่ยงเช่นกัน เพราะในภายภาคหน้าดอกเบี้ยที่ได้รับมาอาจจะไม่พอใช้ในวัยเกษียณ

ทว่า ในยุคดิจิทัลจะทำอะไรก็ง่ายไปเสียหมด การลงทุนเพื่อเพิ่มโอกาสสร้างผลตอบแทน ลดความเสี่ยงของการมีเงินไม่พอใช้วัยเกษียณ ก็มีเครื่องมือใหม่ๆ ออกมาให้เราได้เลือกใช้กันมากมาย

ธนัท ศิริวรางกูร ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร วิซ หรือหมอนัท ผู้เขียนคอลัมน์ Fund Clinic ในโพสต์ทูเดย์ เป็นหนึ่งในผู้ที่คลุกคลีอยู่ในวงการเทคโนโลยีทางการเงิน (ฟินเทค) ร่วมปลุกปั้นและเป็นหุ้นส่วนทำฟินเทคหลายตัวที่เกี่ยวข้องกับเรื่องการลงทุน เช่น ฟินโนมีนา เทรเชอริสต์ ไอ-แท็กซ์ และล่าสุดก็คือวิซ ได้มาบอกเล่าเกี่ยวกับเครื่องมือใหม่ๆ ด้านการลงทุนที่กำลังทำอยู่

หมอนัท เล่าว่า ขณะนี้กำลังทำแพลตฟอร์มตัวช่วยด้านการลงทุนใหม่ชื่อว่า “WIZ” จุดเริ่มต้นของแพลตฟอร์มนี้มาจากสมัยก่อนช่วงที่เรียนหลักสูตร ซีเอฟพีซึ่งเป็นใบประกอบอาชีพนักวางแผนทางการเงิน เห็นว่าเวลาที่ต้องวางแผนทางการเงินส่วนบุคคลให้แต่ละคน ต้องใช้เวลานาน ต้องการความละเอียดสูง รวมถึงความถูกต้อง เพราะแผนการเงินคือแผนชีวิต

สมัยก่อนก็จะทำกันผ่านโปรแกรมเอ็กเซล ข้อดีคือปรับได้ง่าย แต่ข้อเสียคือไม่สะดวก เพราะโปรแกรมเอ็กเซลอยู่ในระบบออฟไลน์ ไม่สามารถซื้อขายลงทุนได้ ไม่สามารถติดตามดูการเปลี่ยนแปลงของข้อมูลต่างๆ ได้ในตัวเอง

จากเหตุผลนี้ จึงสนใจทำระบบสำหรับวางแผนทางการเงิน ซึ่งในอดีตทำได้ยากเพราะต้นทุนสูง กระทั่งปัจจุบันมีฟินเทคใหม่ๆ เกิดขึ้น ก็ค้นพบว่าการทำระบบแบบที่ต้องการจะมีต้นทุนไม่สูงมาก เพียงแต่ต้องมีทีมงานที่ดี ดังนั้นจึงเริ่มพูดคุยกับผู้ที่มีคุณวุฒิซีเอฟพีและซีเอฟเอ หรือคุณวุฒิวิชาชีพการเงินและการลงทุนระดับสากลเพื่อร่วมกันทำ เพราะตลาดนี้ยังไม่เคยมีใครเข้ามาทำ โดยใช้ชื่อระบบว่า วิซ ตั้งเป้าหมายให้ระบบนี้เป็นผู้ช่วยของนักวางแผนการเงิน ไม่ใช่ระบบที่เกิดมาเพื่อฆ่านักวางแผน

“ในระยะยาวแม้จะมีปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) เข้ามาเชื่อมต่อกับลูกค้า แต่นักวางแผนทางการเงินที่เป็นหุ่นยนต์เป็นเอไอ ไม่สามารถทำหน้าที่เหมือนกับคนได้ 100% เพียงแต่ช่วยให้การทำงานง่ายขึ้นเท่านั้น เพราะการวางแผนทางการเงินนั้นมีรายละเอียดมากมายที่ต้องอาศัยความเข้าใจในตัวบุคคล ดังนั้นจึงพัฒนาวิซมาเป็นเครื่องมือของที่ปรึกษาทางการเงินหรือตัวแทนทางการเงิน โดยใช้เวลาพัฒนาเกือบ 2 ปี” หมอนัท ระบุ

ทั้งนี้ ปัจจุบันพัฒนาวิซใกล้เสร็จแล้ว โดยคาดว่าจะเริ่มใช้ได้ช่วงเดือน ก.ค.นี้ ในช่วงแรกระบบก็คงยังไม่สมบูรณ์แบบ แต่พร้อมเพียงพอให้นักวางแผนการเงินนำไปใช้ เบื้องต้นจะคิดค่าใช้จ่ายของระบบเป็นใบอนุญาตใช้งาน (ไลเซนส์) รายปีที่จ่ายปีต่อปี ซึ่งผู้ที่จ่ายค่าระบบคือนักวางแผนทางการเงิน ไม่ใช่ลูกค้าที่มารับบริการกับนักวางแผนทางการเงิน

หมอนัท เล่าต่อว่า ได้นำแนวคิดเกี่ยวกับระบบนี้ไปพูดคุยกับบริษัทที่ให้บริการวางแผนทางการเงินส่วนบุคคล ซึ่งก็ได้รับความสนใจไม่น้อย โดยเฉพาะบริษัทที่บริหารความมั่งคั่ง (เวลท์) ขนาดกลางและขนาดย่อม สนใจใช้มาก ทำให้เกิดแนวคิดในการคิดค่าใช้จ่ายไลเซนส์แบบบริษัทให้เลือก นอกเหนือจากไลเซนส์สำหรับการใช้งานโดยตัวบุคคล โดยปัจจุบันเจรจากับบริษัทที่สนใจใช้งานไปแล้ว 3-4 บริษัท

เป้าหมายที่หมอนัทวางไว้ คือ หลังเปิดบริการวิซเฟสแรกไปน่าจะมีนักวางแผนทางการเงินทั้งแบบบุคคลและองค์กรเข้ามาใช้บริการ 500-600 คน ในช่วงแรกและเพิ่มเป็น 1,000 คน ภายในสิ้นปีนี้ จากกลุ่มเป้าหมายใหญ่ที่น่าจะมีกว่าหมื่นคนทั่วประเทศ

“กลุ่มเป้าหมาย ไม่ว่าจะเป็นคนขายผลิตภัณฑ์ทางการเงิน นักวางแผนทางการเงินอิสระ หรือนักวางแผนทางการเงินที่มีสังกัด บริษัทตัวแทนประกัน บริษัทเวลท์ เล็กๆ ซึ่งนักวางแผนในตลาดเหล่านี้ต่างต้องการยกระดับตัวเองขึ้นมาเพื่อนำเสนอสิ่งที่ตอบโจทย์ผู้ใช้บริการ หากใช้ระบบเป็นจะทำให้ผู้ใช้งานวางแผนได้ละเอียดขึ้น ปกติหากเป็นนักวางแผนทางการเงินมือใหม่ อาจจะวางแผนให้ลูกค้าโดยละเลยบางประเด็น ข้ามบางเรื่องไป แต่ถ้าทำตามขั้นตอนในระบบจะทำให้เข้าใจการวางแผนทางการเงินที่ดีมากขึ้น” หมอนัท กล่าว

ด้านระยะที่ 2 จะเริ่มเห็นการใช้งานได้ในไตรมาส 3 โดยจะเป็นการเชื่อมต่อระบบวิซกับระบบด้านบริหารทรัพยากรบุคคล (เอชอาร์) ขององค์กร เพราะปัญหาอย่างหนึ่งของการวางแผนทางการเงิน คือ ผู้ใช้บริการต้องกรอกข้อมูลมาก รายละเอียดสูง จึงจะวิเคราะห์ออกมาได้ดี ทำให้บริการไม่ได้รับความนิยมเท่าที่ควร

อย่างไรก็ตาม หากการกรอกข้อมูลน้อยลง ใช้วิธีเข้าไปหาลูกค้าผ่านแหล่งที่มีข้อมูลของลูกค้าอยู่แล้ว ก็จะช่วยให้การให้บริการวางแผนทางการเงินประสบความสำเร็จมากขึ้น ซึ่งระบบเอชอาร์มีข้อมูลลูกจ้างอยู่ ไม่ใช่แค่รายได้ แต่มีเรื่องอื่นด้วย เช่น สุขภาพ ดังนั้นจะทำให้วางแผนได้บนพื้นฐานข้อมูลที่ดีขึ้น

หมอนัท ระบุว่า วิซได้เตรียมทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับบริษัทที่ให้บริการเอชอาร์ แพลตฟอร์มรายใหญ่เจ้าหนึ่งแล้ว ซึ่งบริษัทนี้ให้บริการกับองค์กรต่างๆ มีฐานข้อมูลพนักงานทั่วประเทศที่อยู่ในระบบนี้ 2-3 แสนคน ส่วนใหญ่เป็นองค์กรขนาดใหญ่ แต่ก็กำลังมีระบบเอชอาร์เพื่อรองรับเอสเอ็มอีออกมา ซึ่งก็มองว่านี่เป็นอีกตลาดที่มีศักยภาพขยายตัวสูงสำหรับการวางแผนทางการเงิน

ขณะที่ วิซ เล็งไว้ว่าจะพัฒนาระบบฟันด์ ซูเปอร์มาร์ทขึ้นมาให้บริษัทขนาดเล็กที่มีพนักงานแค่ 5-10 คน สามารถทำกองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้พนักงานได้ โดยจุดเด่นของฟันด์ ซูเปอร์มาร์ท คือติดตั้งระบบให้ฟรี เปิดช่องให้ผู้ใช้บริการเลือกกองทุนได้จากบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ทุกแห่ง และในฐานะผู้ให้บริการระบบก็จะทำหน้าที่ไถ่ถอน (รีดีม) หน่วยลงทุนให้ด้วย

หมอนัท สรุปให้ฟังว่า โดยรวมแล้วการให้บริการระบบวิซจะแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนที่ให้นักวางแผนการเงินใช้ และส่วนที่ให้บริษัทนำไปให้พนักงานใช้วางแผนทางการเงิน ระบบทั้งสองส่วนจะถูกพัฒนาไปควบคู่กันและเชื่อมโยงกัน เมื่อใดที่พนักงานในระบบส่วนที่ 2 ต้องการใช้บริการนักวางแผนทางการเงิน ข้อมูลจะถูกส่งไปให้นักวางแผนทางการเงินที่ใช้ระบบวิซอยู่ทันที ทำให้วิซเปรียบเหมือนสำนักงานออนไลน์หรือเลขาฯ ส่วนตัวของนักวางแผนทางการเงิน ซึ่งสำนักงานหรือเลขาฯ ส่วนนี้รายนี้จะมีการพัฒนาข้อมูลใหม่ๆ ที่เกี่ยวข้องเข้ามาตลอดเวลา

เมื่อให้หมอนัทมองภาพโลกของการให้บริการทางการเงินในอนาคต หมอนัท เชื่อว่า การใช้ บล็อกเชน หรือเทคโนโลยีการเก็บข้อมูลแบบกระจายในเครือข่ายแทนที่จะรวมศูนย์ในตัวกลางเป็นแนวโน้มที่มาแรงแน่นอนสำหรับงานด้านการลงทุน วางแผนทางการเงิน ขณะที่หุ่นยนต์ที่ปรึกษา หรือโรโบ แอดไวเซอร์ ก็เป็นอีกสิ่งที่คงเกิดขึ้น เพียงแต่จะมาในรูปแบบเอไอ หรือเครื่องเรียนรู้ (แมชีน เลิร์นนิ่ง) หรือเครือข่ายที่ออกแบบเป็นสากล (ยูนิเวอร์แซล เน็ตเวิร์ก) ก็ขึ้นอยู่กับว่าใครจะหยิบเครื่องมือใดมาใช้

หมอนัท ยังให้ความเห็นอีกว่า แม้จะมีฟินเทคใหม่ๆ ที่ออกมาเป็นตัวช่วยการลงทุนมากขึ้นก็จริง แต่ในอนาคตธุรกิจ บลจ.ก็คงยังยืนหยัดต่อไปได้ เพียงแต่ บลจ.บางแห่งอาจจะสูญเสียส่วนแบ่งทางการตลาดที่ตัวเองมีอยู่ไปบ้าง จากการที่เทคโนโลยีได้สร้างโครงสร้างธุรกิจแบบใหม่ๆ ขึ้นมา โดยเชื่อว่าในอีก 3 ปีข้างหน้าคงจะมีผู้จัดการกองทุนเก่งๆ ที่ผันตัวออกมาทำกองทุนส่วนบุคคลเองมากขึ้นชัดเจน หรือใช้แพลตฟอร์มฟินเทคต่างๆ ที่มีอยู่ ตั้งกองทุนเล็กๆ ขึ้นมาเอง โดยมีลูกค้าจำนวนไม่มาก แต่ก็ทำให้อยู่ได้

“บลจ.คงจะมีส่วนแบ่งตลาดลดลง แต่ก็คงไม่หายไปจากตลาดแน่นอน เพราะถึงอย่างไรสถาบันก็ยังน่าเชื่อถือมากกว่าบุคคล แต่ก็ต้องเผชิญความท้าทายจากการที่หาคนทำงานยากขึ้น คนเก่งๆ จะไหลออกไปทำเอง เหล่านี้เป็นโจทย์ที่ บลจ.ต้องพัฒนาตัวเอง จะอยู่เฉยๆ แบบเดิมไม่ได้อีกแล้ว” หมอนัท มอง

จะเห็นได้ว่า หาก วิซ เปิดตัวเมื่อไหร่ก็คงจะเป็นเครื่องมือที่น่าจับตาสำหรับผู้ที่ต้องการเพิ่มความมั่งคั่งให้กับตัวเอง แต่ปัจจุบันก็ยังมองไม่ออกว่าจะเริ่มต้นตรงไหนดี และคงจะมีการพัฒนาฟินเทคที่น่าสนใจอื่นๆ ตามมาอีก ซึ่งก็ถือเป็นความโชคดีของคนที่อยู่ในยุคนี้ ที่มีทางเลือกหลากหลาย

เปรียบแล้วก็เหมือนนักล่าขุมทรัพย์ ที่มีเครื่องมือมาช่วยให้ล่าขุมทรัพย์ได้ง่ายขึ้น ต่างจากอดีตที่มีแค่ลายแทงเก่าๆ แผ่นเดียว มองก็ยากแล้วว่าจะเดินไปหาขุมทรัพย์อย่างไร แต่นี่เหมือนมีระบบกำหนดตำแหน่ง หรือจีพีเอสนำทางไปหาขุมทรัพย์ทีเดียว