posttoday

ภัยหน้าโรงเรียน

16 มีนาคม 2561

ภาพที่เห็นหน้าโรงเรียนแห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานคร ทำให้ต้องกลับมาตั้งคำถามกับภาวะโภชนาการของเยาวชนไทย

โดย..กาคาบข่าว

ภาพที่เห็นหน้าโรงเรียนแห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานคร ทำให้ต้องกลับมาตั้งคำถามกับภาวะโภชนาการของเยาวชนไทยที่ฝากไว้กับร้านค้าของโรงเรียน ร้านค้าของแม่ค้าพ่อค้าทั่วไปหรือรถเข็นบริเวณรอบๆ โรงเรียนนั้นน่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง

โรงเรียนที่ว่านั้น ถึงกับตั้งโต๊ะขายอาหารฟาสต์ฟู้ด อย่างบรรดา นักเก็ต ที่นักโภชนาการออกโรงเตือน ว่าเป็นอาหารที่เสี่ยง ผงชูรส สารอะลูมิเนียม คือสิ่งอื่นๆ ที่ปะปนอยู่ในไก่ไม่มีกระดูกทั้งหลาย ไก่ก้อนเท่ายางลบทอดด้วยน้ำมันล้วนอุดมไปด้วยสารพัดสิ่งที่ส่งผลต่อสมอง และระบบเผาผลาญร่างกาย

นอกจากนี้ หน้าร้านเดียวกัน ยังเคียงข้างด้วย เฟรนช์ฟรายส์ อาหารทอดอื่นๆ และน้ำอัดลม หากเป็นร้านค้าของแม่ค้าทั่วไปอาจจะพอเข้าใจกรณีนี้ได้ แต่เมื่อเห็นสิ่งที่ว่านั้น เป็นร้านโรงเรียนตั้งโต๊ะขายเอง ก็ยิ่งต้องอึ้ง ตั้งคำถามกับการเฝ้าระวังดูแลโภชนาการของเด็ก ว่าจริงๆ แล้วหน่วยงานที่กวดขันมีตัวตนอยู่จริงหรือไม่

เมนูยอดฮิตหน้าโรงเรียนที่ครองตลาดมานาน อย่าง น้ำอัดลม น้ำหวาน ไอศกรีม ลูกชิ้นทอด/ปิ้ง ผลไม้ ขนมขบเคี้ยว หรือกล่าวได้ว่า อาหารพวกที่มีแป้ง น้ำตาล และน้ำมัน ในปริมาณสูงเหล่านี้กำลังเข้ามาเล่นงานสุขภาพเด็กๆ ที่รัฐบาล หรือใครๆ บอกอยู่บ่อยๆ ว่าพวกเขาคืออนาคตของชาติ สิ่งที่บอกอย่างสวยหรู กับสิ่งที่ปฏิบัติจริง กลับไม่ไปในทิศทางเดียวกัน

อย่าลืมนะครับ ว่าเมื่อทั้งรัฐและโรงเรียน ไม่ช่วยกันดูเรื่องนี้ โดยอาจบอกว่า เป็นเรื่องที่ผู้ปกครองต้องเข้ามามีส่วนดูแลรับผิดชอบบ้าง หากเป็นอย่างนั้นเด็กๆ มากมายกำลังรับเคราะห์จากการปัดความรับผิดชอบของผู้ใหญ่รายรอบ

ผลสำรวจนักเรียนในโรงเรียนขนาดใหญ่ของรัฐและเอกชนใน กทม.พบเด็กประถมศึกษาเป็นโรคอ้วน 19.6% มัธยมศึกษา 36% อีกทั้ง 60% ของเด็กอ้วนยังมีภาวะไขมันในเลือดสูง เสี่ยงโรคเบาหวาน คาดว่าจังหวัดหัวเมืองน่าจะมีแนวโน้มแบบเดียวกัน

เมื่อไม่นานมานี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ออกสำรวจนักเรียนในโรงเรียนขนาดใหญ่ของรัฐและเอกชนใน กทม.จำนวน 7 โรง โดยออกมาระบุว่า พบนักเรียนที่มีปัญหาโภชนาการเกินกว่ากำหนด หรือเป็นโรคอ้วนจริง ระดับประถมศึกษา 19.6% และระดับมัธยมศึกษา 36% โดยถือว่าเป็นตัวเลขที่ค่อนข้างสูงมาก

นอกจากนี้ ยังพบว่าจำนวนดังกล่าวเกิน 60% มีภาวะไขมันในเส้นเลือดสูง อันนำไปสู่ความเสี่ยงโรคเบาหวาน ส่วนใหญ่จะพบในวัยผู้ใหญ่แต่เริ่มพบในเด็กมากขึ้นทุกปีจนน่าตกใจ และคาดการณ์กันด้วยว่า ในพื้นที่ กทม.และจังหวัดใหญ่ๆ น่าจะประสบปัญหาในลักษณะเดียวกัน เพราะเด็กๆ มีพฤติกรรมในการบริโภคที่คล้ายกัน

แนวทางในการแก้ไขเรื่องนี้ที่ได้ประกาศกันไว้ ก็คือ ต้องส่งเสริมให้ผู้ปกครองเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาร่วมกับทางโรงเรียน ไม่ควรปล่อยให้โรงเรียนทำเรื่องนี้โดยลำพัง ผู้ปกครองต้องเข้ามามีบทบาทในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการกินของบุตรหลานใหม่ จะปล่อยให้กินอาหารขยะเหมือนที่ผ่านมาไม่ได้

ควรส่งเสริมการออกกำลังกายร่วมกับทางโรงเรียน และโรงเรียนเองต้องดูแลเรื่องอาหารการกินต่างๆ ที่จำหน่ายภายในโรงเรียนด้วย

ปัญหาที่เล่ามากำลังจะมีระฆังพักยกช่วย เนื่องจากกำลังปิดเทอม ปัญหานี้จึงถูกผลักไปให้ผู้ปกครองรับไปเต็มๆ แต่เมื่อเปิดภาคเรียนหน้า ค่อยมาว่ากันใหม่